ดร.ดอน นาครทรรพฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
ต้องบอกว่าในชีวิตนักเศรษฐศาสตร์ของผม ไม่เคยคิดว่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัวลึกแบบปี 2541 อีก หรืออย่างน้อยก็ไม่น่าจะใช่ปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่เปิดมาต้นปี เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มสดใสกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ แต่ในระยะเวลาไม่ถึงสามเดือน ผมต้องเป็นคนแถลงการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปีนี้ ของ ธปท. จากขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อปี เป็นติดลบร้อยละ 5.3 ต่อปี แม้จะยังดีกว่าลบร้อยละ 7.6 ในปี 2541 แต่ก็ไม่ได้ไกลกันมากนัก แถมพัฒนาการในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเศรษฐกิจโลก ดูย่ำแย่ลงกว่าตอนที่ผมแถลงประมาณการเศรษฐกิจมาก
ในวันที่ผมแถลงประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่ของ ธปท. คาดการณ์เศรษฐกิจไทยโดยนักวิเคราะห์และหน่วยงานส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังขยายตัว มีไม่กี่รายที่ให้เศรษฐกิจไทยติดลบ แต่ก็ไม่ได้ให้ติดลบมากนัก สิ่งที่ผมกังวลมากในวันนั้น คือ ตัวเลขที่ออกไปจาก ธปท. จะสร้างความตื่นตระหนกหรือไม่ หรือจะมีคนว่า ธปท. เว่อร์ไปหรือไม่ ปรากฏว่าวันนั้น ตลาดเงินตลาดทุนไม่ได้มีการเทขายแต่อย่างใด และในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เห็นนักวิเคราะห์ทยอยปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาในระดับลบร้อยละ 5 ลบร้อยละ 6 กันเต็มไปหมด สรุปได้ว่า ตลาดพอรู้อยู่แล้วว่า เศรษฐกิจปีนี้มีโอกาสหดตัวแรง เพียงรอคนนำเท่านั้น
เอาจริงๆ การหดตัวแรงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยผ่านตาบทวิเคราะห์ของเพจลงทุนแมนที่เขียนไว้ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ปัจจัยหลักเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในหลายปีที่ผ่านมาดับสนิท โดยประมาณการเศรษฐกิจที่ติดลบร้อยละ 5.3 ของ ธปท. อิงกับสมมติฐานว่า ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทั้งหมด 15 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนประมาณ 25 ล้านคน ถ้าเอาตัวเลขกลมๆ ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณคนละห้าหมื่นบาท เท่ากับว่า รายรับจากนักท่องเที่ยวจะหายไป 1.25 ล้านล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 7 ของจีดีพีไทยในปีที่แล้ว (อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้ไม่สามารถใช้ได้ทั้งก้อน เพราะสินค้าส่วนหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติบริโภค เป็นสินค้านำเข้า หรือใช้วัตถุดิบที่นำเข้าอีกที แต่ก็พอให้เห็นขนาดคร่าวๆ ของ shock ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจไทยในปีนี้)
นอกจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปแล้ว ยังมีปัจจัยลบที่ฉุดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้อีกสองปัจจัยหลัก ได้แก่ ภัยแล้งที่ลากยาวมาต่อเนื่องเป็นปีที่สอง และเศรษฐกิจโลกที่เป็นที่แน่นอนแล้วว่าได้เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งมีผลต่อภาคเกษตร ภาคส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม จนอาจกล่าวได้ว่า แทบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทยเจอกับศึกหนักในปีนี้
"ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยตัวแปรที่สำคัญ คือ ระยะเวลาและขอบเขตของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19"
อย่างไรก็ดี ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก โดยตัวแปรที่สำคัญ คือ ระยะเวลาและขอบเขตของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการสาธารณสุขของประเทศต่างๆ และการพัฒนาวัคซีนและการรักษา ซึ่งในประมาณการของ ธปท. ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า การระบาดจะควบคุมได้ภายในไตรมาสสอง ขณะที่การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะเป็นไปอย่างช้าๆ จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคนี้อย่างทั่วถึง โดยข้อมูลล่าสุดของจีน พบว่า ช่วงวันหยุดเชงเม้ง (4-6 เมษายน) ที่เพิ่งผ่านไป จำนวนนักท่องเที่ยวในจีนกันเองลดลงมากกว่าร้อยละ 60 จากปีที่แล้ว แม้จีนจะสามารถควบคุมการระบาดของโรคนี้ได้เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ตาม สะท้อนว่า ไม่เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้แต่ไทยเที่ยวไทยเองก็อาจจะกลับมาไม่ง่ายนัก
อีกตัวแปรที่สำคัญ คือ มาตรการการเงินการคลังในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งมาตรการการเงินการคลังของประเทศไทยเอง ซึ่งในประมาณการเศรษฐกิจที่ลบร้อยละ 5.3 นั้น ยังไม่ได้รวมมาตรการที่ออกมาหลังวันที่ 24 มีนาคม 2563 โดยเฉพาะมาตรการดูแลและเยียวยา COVID-19 ระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยมาตรการการคลัง 1 ล้านล้านบาท และมาตรการการเงิน 9 แสนล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563
"เทียบกับวิกฤตครั้งนั้น ต้องบอกว่าเราอยู่ในสถานะตั้งต้นที่ดีกว่ามาก ทั้งในแง่ของอิสระและขีดความสามารถในการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงิน รวมถึงบทเรียนจากอดีต"
ขนาดของมาตรการชุดล่าสุดสะท้อนว่า ภาครัฐตระหนักชัดว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงยิ่งนัก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูแลไม่ให้เศรษฐกิจไทยไถลลึกลงไปเหมือนกับปี 2541 ซึ่งต้องใช้เวลานานในการกอบกู้ เทียบกับวิกฤตครั้งนั้น ต้องบอกว่าเราอยู่ในสถานะตั้งต้นที่ดีกว่ามาก ทั้งในแง่ของอิสระและขีดความสามารถในการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงิน รวมถึงบทเรียนจากอดีตที่สอนเราว่า หากปล่อยระบบเศรษฐกิจการเงินเกิดปัญหาสภาพคล่อง ไม่ว่าจะจากภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน หรือภาคสถาบันการเงิน สุดท้ายทุกอย่างจะพังกันหมด ซึ่งเป็นที่มาของมาตรการการเงิน 9 แสนล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือสินเชื่อบุคคลของ ธปท. ก่อนหน้านี้
ในมาตรการ 9 แสนล้านบาทของ ธปท. 4 แสนล้านบาทมีไว้เพื่อดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่อันนี้ต้องอย่าลืมว่า ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทย จากที่มีขนาดเล็กมากในปี 2541 ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของภาคธุรกิจ นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์และตลาดหุ้น อีกทั้งมีความเชื่อมโยงสูงกับตลาดการเงินอื่น จึงมีความจำเป็นที่ ธปท. ต้องเข้าดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่
แม้ว่าเรายังไม่รู้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะจบลงอย่างไร จะลากยาวถึงสิ้นปีและฉุดเศรษฐกิจโลกลงไปเป็นแบบ Great Depression เมื่อเก้าสิบปีก่อนหรือไม่ รวมถึงรายละเอียดของมาตรการการคลัง 1 ล้านล้านบาทว่าเป็นอย่างไร แต่ผมเชื่อมั่นว่า ในด้านของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ภาครัฐเดินมาถูกทางแล้ว เริ่มตั้งแต่การตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา และการออกมาตรการขนาดใหญ่ เมื่อรู้ว่าที่ผ่านมาไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุไว้ชัดเจนในการประชุมครั้งล่าสุดว่า พร้อมที่จะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการการเงินอื่น ดังนั้น โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะหดตัวลึกและซึมยาวแบบปี 41 น่าจะมีไม่มากครับ
แล้วเราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันครับ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
>>