​ปุจฉา วิสัชนา ว่าด้วย “เงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลาง”

​นายสุพริศร์ สุวรรณิกสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์



คงปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤตโควิด-19 ได้เร่งให้ทั่วโลกก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะวงการการเงินที่กำลังมุ่งหน้าสู่สังคมไร้เงินสดมาก่อนเกิดวิกฤตอยู่แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ธนาคารกลางทั่วโลกต่างเร่งศึกษาและพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของตนเอง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในระบบการชำระเงินระดับสถาบันการเงิน (Wholesale) ซึ่งช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีต้นทุนถูกลง และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะในเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ (Distribution Ledger Technology: DLT) หรือบล็อกเชน (blockchain) ที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินอย่างหลากหลาย และการใช้ในระดับรายย่อย (Retail) หรือก็คือ การนำมาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของเรา ๆ ท่าน ๆ นั่นเอง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือเป็นธนาคารกลางอันดับแรก ๆ ที่ได้เริ่มศึกษาและพัฒนา CBDC ซึ่งเริ่มต้นทดสอบระบบการชำระเงินต้นแบบในระดับสถาบันการเงินมาตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ “อินทนนท์” โดยในปัจจุบันคืบหน้าไปมาก และอยู่ในขั้นตอนการต่อยอดศึกษา ออกแบบและพัฒนา CBDC ในภาคธุรกิจ ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ จะทำให้ ธปท. เข้าใจรูปแบบ ผลกระทบ รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้ในระดับรายย่อยต่อไป หลายท่านอาจยังมีคำถามที่ฉงนอยู่ในใจ วันนี้จึงขออาสาตอบประเด็นข้อสงสัยสำคัญเกี่ยวกับเงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลาง โดยเฉพาะในระดับรายย่อยกันครับ


CBDC คืออะไร?

Central Bank Digital Currency คือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้น ๆ พูดง่าย ๆ ในกรณีของไทย ก็เหมือนเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดยแบงก์ชาติ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบ “ดิจิทัล”


ทำไมธนาคารกลางสนใจออก CBDC สำหรับรายย่อยด้วย?

สาเหตุสำคัญคือ การเข้าถึงบริการทางการเงินที่สูงขึ้น แม้ว่าประชาชนคนนั้นจะไม่มีบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ก็ตาม การเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของระบบการเงินทั้งระบบของประเทศ ส่วนปัจจัยเร่งสำคัญคือ การพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน ซึ่งอาจลดทอนประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศได้


CBDC ต่างจากเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน เช่น คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) และสเตเบิลคอยน์ (stable coin) อย่างไร?

ความแตกต่างสำคัญคือ “ผู้ออกใช้” และ “คุณสมบัติความเป็นเงิน” โดย CBDC ออกโดย “ธนาคารกลาง” ของแต่ละประเทศ และเข้าข่ายนิยามความเป็นเงินอย่างครบถ้วน คือ

1) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

2) เป็นที่เก็บรักษามูลค่า คือมีมูลค่ามั่นคง และ

3) เป็นหน่วยวัดมูลค่าของทั้งสินค้าและบริการ

ในทางตรงกันข้าม คริปโทเคอร์เรนซี เช่น บิทคอยน์ คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่สร้างขึ้นด้วย “ทคโนโลยีบล็อกเชน” โดยมุ่งหวังเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนแทนที่เงินสกุลปกติ แต่ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติความเป็นเงินและไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ขณะที่สเตเบิลคอยน์ เช่น ลิบร้า คล้ายกับคริปโทเคอร์เรนซี คือ ออกโดยเทคโนโลยีบล็อกเชน และไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเช่นกัน แต่มีเงินสกุลปกติ หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สิน (เช่น ทองคำ) ค้ำประกันให้มูลค่ามีความไม่แน่นอนลดลงบ้าง


แล้วพร้อมเพย์ และ e-Money ล่ะ?

พร้อมเพย์ คือ ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นการโอนเงินที่เรา ๆ ท่าน ๆ ฝากไว้ระหว่างตัวกลางคือ “ธพ.” ด้วยกัน ขณะที่ e-Money คือ เงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกโดยตัวกลางคือ “หน่วยงานเอกชน” (ไม่ว่าจะเป็น ธพ. และผู้ขออนุญาตอื่น ๆ) เช่น บัตรเติมเงินทางด่วน ทรูมันนี่ ดังนั้น ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเวลาเราเอาเงินบาทไปฝากที่ ธพ. หรือซื้อ e-Money จะตกอยู่ที่ตัวกลาง ได้แก่ “ธพ.” และ “บริษัทเอกชน” นั้น ๆ กล่าวคือ เวลาเราต้องการถอนเงินฝากออกจาก ธพ. ใช้บริการด้วย e-Money หรือแลกคืนจากบริษัทเอกชน ผู้รับผิดชอบที่จะต้องเอาเงินบาทมาคืนให้เราหรือให้บริการ คือ ธพ. และบริษัทเอกชน ในทางตรงกันข้าม CBDC ซึ่งเปรียบเสมือนเงินสดหรือธนบัตรแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ภาระหนี้จะไม่ได้อยู่ที่ตัวกลาง แต่อยู่ที่ธนาคารกลางโดยตรง ซึ่งถือว่าไม่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เลย


แล้วอย่างนี้ ธพ. จะยังมีบทบาทอยู่หรือไม่?

โมเดลในหลายประเทศ เช่น เงินหยวนดิจิทัลของจีน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศการเงินเดิม โดย ธพ. จะยังคงมีความสำคัญอยู่ เพียงแต่บทบาทอาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง นั่นคือ การกระจาย CBDC จากธนาคารกลางไปยังประชาชนผ่าน ธพ. และไม่มีการให้ดอกเบี้ยจากการถือ CBDC (เหมือนเงินสดที่ไม่ได้ดอกเบี้ยในการถือ) จะยังทำให้มีเงินฝากใน ธพ. และถือ CBDC ในส่วนน้อย (แทนเงินสด)


เมื่อไหร่จะได้ใช้ CBDC ระดับรายย่อยในไทย?

การจะนำ CBDC มาใช้ในระดับรายย่อย จำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาและพิจารณาผลกระทบในมิติต่าง ๆ อย่างรอบคอบ อาทิ ข้อกฎหมาย เสถียรภาพของระบบการเงิน ความปลอดภัยในการใช้งาน และความพร้อมด้านเทคโนโลยีของผู้ใช้ เป็นต้น ดังนั้น การเดินหน้าศึกษาและระดมสมองร่วมกับภาคเอกชนไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เข้าใจข้อดีและข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างรอบด้าน จึงมีความสำคัญมาก... การจะนำ CBDC มาใช้จริง จึงไม่ได้อยู่ที่ “ความรวดเร็ว” ว่าต้องออกใช้นำหน้าประเทศอื่น ๆ แต่จุดสำคัญอยู่ที่ “ความพร้อม” มากกว่าครับ!


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ บางขุนพรหมชวนคิด
วันที่ 20 สิงหาคม 2563

>>