นางพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง

การตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ในการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมาค่อนข้างจะผิดไปจากที่ตลาดคาดกันไว้ว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยไว้ก่อนอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดิมที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี นับว่าค่อนข้างต่ำ เพราะเมื่อหักด้วยเงินเฟ้อคาดการณ์(1) ที่ประมาณร้อยละ 3 จะได้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ติดลบมาโดยตลอด ที่ต้องใช้เงินเฟ้อคาดการณ์เพราะคนเราจะตัดสินใจบริโภคหรือลงทุนก็ต้องคิดถึงต้นทุนและผลตอบแทนที่จะได้จริงในระยะข้างหน้า ถ้าวันนี้คิดว่าราคาถูกแล้วรีบกู้ยืมหรือรีบลงทุนไป แต่มีผลผูกพันต่อเนื่องไปในอนาคต หากราคาเกิดสูงขึ้นทีหลังก็อาจไม่คุ้มกับผลตอบแทนที่จะได้คืนมา กรณีการคิดดอกเบี้ยที่แท้จริงจึงมักจะหักด้วยเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะ 1 ปีข้างหน้า ซึ่งดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบก็แปลว่านโยบายการเงินยังคงผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กนง. ได้แสดงความเป็นห่วงในประเด็นเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินมาโดยตลอดโดยเฉพาะในเรื่องของสินเชื่อที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวมาอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 80ของ GDP และในช่วงปีหน้าเมื่อเศรษฐกิจหลายประเทศปรับตัวดีขึ้นแล้ว เราน่าจะเห็นประเทศต่างๆ เริ่มเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น จึงไม่แปลกที่จะเกิดคำถามว่า ทำไม กนง. จึงลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุดนี้
การพิจารณาตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. เป็นการชั่งน้ำหนักความเสี่ยงต่อ 3 เรื่องหลัก คือ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ แรงกดดันเงินเฟ้อ และเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ในช่วงปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปีหน้า แรงกดดันเงินเฟ้อน่าจะไม่ใช่ความเสี่ยงสำคัญ เพราะราคาในประเทศเป็นการทยอยปรับขึ้นและไม่มีแรงกดดันด้านอุปสงค์อันจะนำไปสู่การปรับขึ้นราคาได้มากนักในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงชะลอตัว ดังนั้น ประเด็นหลักในการตัดสินใจของ กนง. จึงเป็นการชั่งน้ำหนักความเสี่ยงระหว่าง 2 เรื่องหลัก คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจกับเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน

เราลองมองย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปีนี้ แม้เศรษฐกิจโลกยังไม่ค่อยฟื้นตัว แต่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี หลายสำนักมองเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าว่าจะโตได้ราวร้อยละ 5 เราเห็นสินเชื่อขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15 หนี้ครัวเรือนเร่งตัว คอนโดมิเนียมขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนเป็นห่วงกันว่าอาจจะทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนและฟองสบู่อสังริมทรัพย์ เมื่อความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจน้อยกว่าความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ จึงเป็นเหตุผลให้ กนง. คงดอกเบี้ยไว้แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้า โดยเห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพียงพอสำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในขณะนั้น จนกระทั่งมาปรับลดดอกเบี้ยลงเป็นร้อยละ 2.5 เมื่อเดือนพฤษภาคม เมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกดูจะล่าช้าออกไป ขณะที่แรงส่งของเศรษฐกิจไทยเองเริ่มจะดูแผ่วลง อย่างไรก็ดี เราไม่เห็นการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เท่าใดนัก เพราะยังอยู่ในช่วงแข่งขันระดมเงินฝากเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อที่ยังอยู่ในระดับสูง

---------------------------

1/ ที่มาของเงินเฟ้อคาดการณ์จาก Asia Pacific Consensus Forecasts, November 2013

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย