​USD futures : ทางเลือกในการบริหารความเสี่ยง จากอัตราแลกเปลี่ยน

นายภัทรพล โตมานะ

ภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกและของประเทศไทยเองรวมถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลาทำให้ค่าเงินบาทสามารถเคลื่อนไหวแข็งค่าหรืออ่อนค่าได้ตามสถานการณ์ ซึ่งผู้ประกอบการที่มีการค้าขายกับต่างประเทศและไม่ต้องการมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนก็มักจะทำธุรกรรมเพื่อป้องกันความเสี่ยงไว้ เพื่อให้ทราบถึงรายได้หรือต้นทุนของการขายสินค้าเป็นเงินบาทที่แน่นอนโดยวิธีการที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่นิยมและคุ้นเคยกันมากที่สุด ได้แก่ การซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (สัญญา forward) กับธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการซื้อขายสัญญา forward แล้วยังมีอีกหลายวิธีที่ผู้ประกอบการสามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งหนึ่งในทางเลือกซึ่งหลายท่านอาจยังไม่คุ้นเคยหรือยังไม่รู้จักกัน คือ การซื้อขายสัญญา USD futures สัญญา USD futures คืออะไรและใช้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จักในเบื้องต้นกันครับ

USD futures เป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างหนึ่งที่สามารถใช้ป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยเป็นการทำสัญญาซื้อหรือขายเงินดอลลาร์กันในอนาคตตามราคาที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันคล้ายกับการทำสัญญา forward แต่การซื้อขายจะทำผ่านตลาดอนุพันธ์แห่งประเทศไทย (TFEX)แทนที่จะเป็นการซื้อขายกับธนาคารพาณิชย์เหมือนสัญญา forward ทั่วไป อย่างไรก็ดี การซื้อขาย USD futures มีข้อแตกต่างจากการซื้อขายสัญญา forward ในประเด็นสำคัญที่ควรทราบ ได้แก่ 1) สัญญา USD futures มีลักษณะเป็นสัญญามาตรฐาน โดยขนาดสัญญามีมูลค่าสัญญาละ 1,000 ดอลลาร์ สรอ. และมีระยะเวลาส่งมอบตามที่ระบุไว้ในสัญญา เช่น ณ สิ้นเดือนนั้น หรือ สิ้นเดือนถัดไป เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากสัญญา forward ที่ลูกค้าสามารถระบุจำนวนเงินและวันส่งมอบตามที่ต้องการได้ ดังนั้น ผู้ที่ใช้ USD futuresในการป้องกันความเสี่ยงจะต้องมีการบริหารการซื้อขายสัญญาให้เหมาะกับภาระผูกพันที่จะป้องกันความเสี่ยงเช่น หากท่านมีภาระผูกพันที่จะส่งมอบในวันที่ 15 มกราคม 2556 ท่านจะต้องซื้อขายสัญญา USD futures ที่มีระยะเวลาส่งมอบเกินกว่าภาระผูกพัน เช่น สัญญาที่มีระยะเวลาส่งมอบสิ้นเดือนมกราคม 2556 และทำการซื้อขายด้านตรงข้ามเพื่อปิดสัญญาดังกล่าวในวันที่ภาระผูกพันส่งมอบเพื่อปิดความเสี่ยง เป็นต้น ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะต้องมีการศึกษาและสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้สัญญาก่อน 2) การซื้อขาย USD futures สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีวงเงินหรือ credit line กับธนาคารพาณิชย์เหมือนการทำสัญญา forward แต่ต้องมีการเปิดบัญชีซื้อขายกับนายหน้าซื้อขายสัญญาอนุพันธ์ (Broker) ก่อน และต้องมีการวางเงินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขาย โดยหากมีการซื้อขายสัญญาเกิดขึ้น Broker จะคำนวณกำไรขาดทุนให้ผู้ลงทุนทุกวันตามค่าเงินที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน ซึ่งในกรณีที่มีผลขาดทุนจากการซื้อขายสัญญาจนเงินหลักประกันต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็อาจต้องมีการเรียกหลักประกันเพิ่มเพื่อให้เงินประกันอยู่ในเกณฑ์ตามที่กำหนด 3) การซื้อขาย USD futures จะไม่มีการส่งมอบเงินดอลลาร์กันจริงทั้งจำนวนเหมือนการทำสัญญา forward แต่จะมีการส่งมอบเฉพาะส่วนต่างของค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไปจากราคาที่ตกลงซื้อขายในสัญญาซึ่งส่วนต่างดังกล่าวเมื่อนำไปรวมกับการซื้อขายเงินดอลลาร์ในวันที่ต้องมีการรับ/ส่งมอบเงินกับคู่ค้าแล้ว จะให้ผลโดยรวมที่ใกล้เคียงกับการซื้อขายสัญญา forward ยกตัวอย่างเช่น หากในวันที่ 1 มกราคม 2555 ผู้ประกอบการทำการขาย (short) USD futures ที่ราคา 31.00 บาท/ดอลลาร์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเงินค่าสินค้าที่จะมีการรับมอบในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 เมื่อถึงเวลารับมอบเงินค่าสินค้าดังกล่าว หากค่าเงินบาทและราคา USD futures เคลื่อนไหวไปอยู่ที่ 30.50 บาท/ดอลลาร์ ผู้ประกอบการจะได้กำไรจากการขายสัญญา USD futures ที่ 0.50 บาท/ดอลลาร์โดยประมาณ ซึ่งเมื่อนำกำไรดังกล่าวไปรวมกับการนำเงินค่าสินค้ามาขายกับธนาคารพาณิชย์ได้ที่อัตรา 30.50 บาท/ดอลลาร์แล้ว จะมีผลเสมือนกับการขายเงินดอลลาร์ได้ที่ 31.00 บาท/ดอลลาร์ หรือเท่ากับการทำสัญญาขายเงินดอลลาร์ forward ไว้ที่ 31.00 บาท/ดอลลาร์นั่นเอง

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของการจัดจั้งตลาด USD futures ในต่างประเทศพบว่ามีหลายประเทศ เช่นประเทศอินเดียหรือเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งตลาด โดยมีปริมาณธุรกรรมต่อวันค่อนข้างสูงและมีกลุ่มผู้เล่นค่อนข้างหลากหลาย ในขณะที่ ประเทศไทยเองได้มีการจัดตั้งตลาด USD futures ตั้งแต่วันที่5 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา และมีปริมาณธุรกรรมในแต่ละวันในระดับที่มากพอสมควรโดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ประมาณ 1,000-4,000 สัญญาต่อวันโดยขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดในแต่ละช่วง

ถ้าท่านผู้อ่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจรู้สึกว่าการใช้สัญญา USD futures อาจมีความซับซ้อนในการใช้หรือทำความเข้าใจได้ยากกว่าอยู่พอสมควร แล้วการใช้ USD futures มีข้อดีอย่างไร ใช้การซื้อขายสัญญาforward กับธนาคารพาณิชย์ที่คุ้นเคยอยู่แล้วดีกว่าหรือไม่ ก็ขอเรียนชี้แจงว่าประโยชน์ที่ท่านอาจได้รับจากการทำธุรกรรม USD futures มีอยู่ 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 1) การซื้อขาย USD futures ไม่ต้องมีวงเงินหรือ credit line กับธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงแต่ไม่มีวงเงินหรือ credit line ในการซื้อขายสัญญา forward กับธนาคารพาณิชย์ ก็สามารถใช้ USD futures เพื่อป้องกันความเสี่ยงเป็นการทดแทนได้ เพียงแต่ต้องมีการวางเงินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 2) เป็นทางเลือกของการป้องกันความเสี่ยงที่อาจมีต้นทุนต่ำกว่า เนื่องจากราคาของอัตราแลกเปลี่ยนที่ซื้อขายในสัญญา USD futures กับสัญญา forward ณ ขณะใดขณะหนึ่งอาจไม่เท่ากัน ซึ่งในบางครั้งราคาของการทำสัญญา USD futures อาจสูงกว่าหรือต่ำราคาของการทำสัญญา forward โดยขึ้นอยู่กับภาวะตลาดในขณะนั้นและขึ้นอยู่กับทิศทางที่ท่านเลือกทำสัญญาด้วยว่าเลือกด้านซื้อหรือขาย ดังนั้นการพิจารณาเลือกใช้สัญญา USD futures หรือ forward ที่เหมาะสมตามราคาตลาดในขณะนั้นก็อาจช่วยให้ท่านมีต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงที่ถูกลงได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า USD futures เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการใช้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าอาจต้องใช้เวลาในการศึกษาและทำความเข้าใจในธุรกรรมสักหน่อยสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่คุ้นเคย โดยท่านสามารถที่จะขอคำแนะนำในการซื้อขายได้จาก Broker ที่ท่านเป็นลูกค้าซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่พร้อมให้คำแนะนำในการซื้อขายให้แก่ทุกท่าน รวมถึงอาจหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น website ของตลาดอนุพันธ์ (TFEX) เพื่อทำความเข้าใจในเบื้องต้นได้ แล้วท่านจะเห็นว่าการใช้ USD futures เพื่อบริหารความเสี่ยงค่าเงินทำได้ไม่ยาก และอาจช่วยให้ท่านเข้าถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงได้ง่ายขึ้นและในต้นทุนที่ถูกลงครับ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย