​เจาะลึกข้าวเวียดนาม... เร่งเสริมแนวทางการพัฒนาข้าวไทย

นางสาวดวงทิพย์ ศิริกาญจนารักษ์
นางสาวพัชรี วชิรเดชวงศ์

สถานะผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของไทยในตลาดโลกกำลังถูกท้าท้ายด้วยทั้งปัจจัยภายในจากนโยบายการรับจำนำที่ค้ำประกันราคาค่อนข้างสูง แม้ว่าจะช่วยรักษากำลังซื้อของเกษตรกรภายในประเทศแต่อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก รวมทั้งปัญหาแรงงานในภาคเกษตรที่สะสมมานาน ภาวะแรงงานตึงตัวมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของแรงงานในกลุ่มนี้สูงกว่าแรงงานในสาขาอื่นๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาการโยกย้ายของแรงงานภาคเกษตรออกไปประกอบอาชีพอื่นที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า ด้านปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะเวียดนามที่มีความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและระบบชลประทานที่ทั่วถึง ทำให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่สูงโดยเฉพาะข้าวขาว ประกอบกับค่าแรงที่ถูกกว่าสนับสนุนให้ราคาข้าวเวียดนามต่ำและสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดในปี 2554 เวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 7.1 ล้านตัน คิดเป็น 1 ใน 5 ของปริมาณการค้าข้าวโลก ซึ่งรัฐบาลไทยคงต้องหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง มิฉะนั้นแล้ว เวียดนามอาจกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุด แม้ว่าข้าวไทยจะยังมีคุณภาพเหนือกว่าก็ตาม

บทความนี้จึงเน้นการศึกษาในเชิงเจาะลึกเปรียบเทียบระหว่างข้าวเวียดนามและข้าวไทย ทั้งในด้านการผลิตและการค้าข้าว เพื่อมุ่งหวังสร้างความเข้าใจ พร้อมกับการเสนอแนวทางที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวอันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของภาคเกษตรกรรมไทยในระยะยาว โดยมีรายละเอียดแต่ละด้าน ดังนี้

ด้านการผลิต เวียดนามมีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยสูงกว่าไทย สาเหตุสำคัญคือ (1) พื้นที่ปลูกข้าวของเวียดนามมีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่เขตชลประทานมากถึงร้อยละ 90 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด ขณะที่ไทยมีเพียงร้อยละ 22 โดยพื้นที่ตอนบนเวียดนามได้ประโยชน์จากแม่น้ำแดง และตอนล่างได้ประโยชน์จากสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง (2) พันธุ์ข้าวเกือบทั้งหมดเป็นข้าวเปลือกเจ้าอายุสั้น (ไม่ไวต่อช่วงแสง) ข้อดีของข้าวชนิดนี้คือ ให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูงถึง 884 กิโลกรัม แต่ข้าวมีเมล็ดสั้นทำให้ขายได้ในราคาต่ำกว่า อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบผลผลิตต่อไร่ของข้าวเวียดนามและไทย ในข้าวประเภทเดียวกัน จะพบว่าผลผลิตต่อไร่ของไทยต่ำกว่าเวียดนามไม่มาก เช่น กรณีข้าวนาปรังซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 666 กิโลกรัมต่อไร่และในบางพื้นที่ของไทยที่มีน้ำสมบูรณ ์ ก็สามารถผลิตได้สูงกว่า แต่การที่ไทยผลิตข้าวคุณภาพดี เช่น ข้าวหอมมะลิ ซึ่งมีราคาสูงกว่าข้าวนาปรัง แต่ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่ามากคือประมาณ 337 กก.ต่อไร่ ขณะที่เวียดนามปลูกข้าวประเภทนี้น้อยมาก ก็เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของไทยต่ำกว่าเวียดนามค่อนข้างมาก (3) ขนาดถือครองพื้นที่ทางการเกษตรของเวียดนามมีขนาดเล็กทำให้ดูแลที่นาของตนได้ทั่วถึง คือประมาณ 6.25 ไร่ต่อครัวเรือน (ไทยประมาณ 17 ไร่ต่อครัวเรือน)

ด้านราคา ข้าวเวียดนามมีราคาส่งออกต่ำกว่าข้าวไทย ส่วนหนึ่งเนื่องจาก (1) เวียดนามมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยร้อยละ 51 เพราะใช้แรงงานเป็นหลักในการผลิต ซึ่งค่าจ้างแรงงานของเวียดนามเฉลี่ยวันละ 80 บาท (จากการสำรวจ ณ จังหวัดเตียนยาง นครโฮจิมินห์) (2) ข้าวส่งออกส่วนใหญ่ของเวียดนามเป็นข้าวหัก (25%) และมีเมล็ดสั้นกว่าไทย ทำให้ขายได้ในราคาต่ำกว่า (3) เวียดนามมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่ง เพราะใช้ทางเรือเป็นหลัก และ (4) เวียดนามยังขาดการกำหนดมาตรฐานการส่งออกข้าวที่ชัดเจน ทำให้ความสามารถในการต่อรองราคากับคู่ค้าทำได้น้อยกว่า

ด้านการดูแลราคาข้าวของเวียดนามอยู่ภายใต้การดูแลของทางการ ที่ให้ความสมดุลระหว่างราคาข้าวภายในประเทศและความสามารถในการส่งออกข้าว เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยทางการจะประกาศราคารับซื้อข้าวเปลือกภายในประเทศขั้นต่ำในช่วงต้นฤดูการผลิต ซึ่งคำนวณจากต้นทุนการผลิตบวกกับกำไรร้อยละ 30 ทางด้านราคาส่งออก ดูแลโดยสมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association หรือ VFA) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ จะเป็นผู้ประกาศราคาส่งออกขั้นต่ำ โดยราคาส่งออกจะขึ้นกับราคาข้าวในตลาดโลก ทั้งนี้ ทางการอาจมีนโยบายเข้าแทรกแซงรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรบ้างในช่วงราคาข้าวภายในประเทศตกต่ำ

ด้านการค้า การทำตลาดข้าวต่างประเทศของเวียดนาม ดำเนินการผ่านสมาคมอาหารเวียดนาม ซึ่งตามกฎหมายผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามทุกรายต้องเป็นสมาชิกและได้รับอนุญาตในการส่งออกจากสมาคมนี้ โดยการค้าข้าวของเวียดนามครึ่งหนึ่งเป็นการค้าแบบรัฐบาลกับรัฐบาล หรือ G to G ตลาดหลัก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยเกือบทั้งหมดเป็นข้าวขาว 25%
หากถามว่าเวียดนามมีโอกาสเพิ่มปริมาณการส่งออกได้มากน้อยเพียงใด คาดว่า เวียดนามอาจทำได้จำกัด เนื่องจากปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณตอนล่างของประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อแหล่งผลิตข้าวเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ ในระยะยาวเวียดนามยังต้องเลือกให้ความสำคัญกับการผลิตด้านใดด้านหนึ่งระหว่างเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าเวียดนามจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมมากกว่า เพราะมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า ซึ่งทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานและที่ดินไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เวียดนามก็ยังคงจะให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรโดยเฉพาะเรื่อง Food Security การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และส่งเสริมปลูกข้าวพันธุ์ดี (ข้าวขาวเมล็ดยาว และข้าวหอมมะลิ) ก็เป็นทิศทางที่จะทำให้เวียดนามสามารถรักษาระดับการผลิตและการส่งออกข้าวได้

สำหรับไทยได้มีการปรับโครงสร้างการผลิตไปก่อนหน้าแล้ว โดยสัดส่วนการผลิตของภาคเกษตรลดลงเป็นลำดับและยังมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า ทำให้แรงงานหนุ่มสาวได้เคลื่อนย้ายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นส่วนใหญ่แล้ว ประกอบกับมีข้อจำกัดด้านแรงงานและต้นทุนแรงงาน แต่ไทยยังมีความได้เปรียบในเชิงของพื้นที่และเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงไม่ควรละทิ้งการให้ความสำคัญแก่ภาคเกษตรกรรม แต่ควรปรับรูปแบบการผลิตไปเน้นการผลิตแบบเกษตรปราณีต มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และมุ่งตลาดเฉพาะ (Niche Market) บนพื้นฐานของการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้มีต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นทั้งจากการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ พัฒนาแหล่งน้ำให้กระจายทั่วถึง และเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน และมีการประหยัดต่อขนาดการผลิต (Economy of scale) และประการสำคัญการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับข้าว ควรเป็นนโยบายที่สนับสนุนให้การผลิตข้าวมีประสิทธิภาพด้วย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย