ว่าด้วยความไม่แน่นอนและการจัดการความเสี่ยง

​อันว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เป็นสัจธรรมที่ไม่มีมนุษย์คนใดหนีพ้นไปได้ ผู้เขียนเองแม้ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกฝนให้จิตใจมีภูมิคุ้มกัน คือ มีสติสัมปชัญญะเพื่อเตรียมตัวรับมือกับกฎไตรลักษณ์นี้อย่างรู้เท่าทัน แต่เมื่อต้องประสบกับความไม่แน่นอนและการสูญเสียศูนย์รวมดวงใจผู้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของครอบครัวอย่างคุณย่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเข้าจริง ก็อดใจหายอย่างบอกไม่ถูกเช่นกัน วันนี้ ผู้เขียนจึงขออุทิศบทความนี้แด่คุณย่ากำนล สุวรรณิก ผู้เป็นที่รักยิ่งของผู้เขียน และขอชวนท่านผู้อ่านได้มาทำความรู้จักกับคำศัพท์สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในแวดวงเศรษฐศาสตร์และการเงินกันครับ

close-up hand The hand of a businessman who is stopping or preventing a falling block.Risk protection concept,Eliminating the risk

เริ่มต้นด้วยความไม่แน่นอนที่หลายท่านอาจคุ้นหูกันอยู่แล้ว แต่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือ คำว่า “VUCA” ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่เดิมใช้ในกองทัพสหรัฐฯ แต่นำมาประยุกต์ใช้กับสังคมปัจจุบัน โดยท่านอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.วิรไท สันติประภพ เป็นคนไทยคนแรก ๆ ที่กล่าวถึง คำนี้ย่อมาจาก V (Volatility) คือ ความผันผวนสูง การเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว U (Uncertainty) คือ ความไม่แน่นอนสูง ยากต่อการตัดสินใจ C (Complexity) คือ ความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ และ A (Ambiguity) คือ ความคลุมเครือ ไม่สามารถคาดเดาผลได้ชัดเจน ยิ่งในโลกปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งมีทั้งด้านบวกและลบ ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติหรือมนุษย์ อาจเรียกได้ว่าเป็นโลกแห่ง “VUCA+” หรือ VUCA ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่เห็นได้ชัด ความนิยมที่มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในเทคโนโลยีการเงินแบบไร้ตัวกลางหรือ Defi เทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งยังมีน้อยคนนักที่จะรู้จัก การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 อย่างรวดเร็วที่จำเป็นต้องพิชิตด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดหรือด้วยการเร่งทำวิจัยและรักษาด้วยสมุนไพรไทยอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการระหว่างที่วัคซีนยังนำเข้าและฉีดได้ไม่ทั่วถึง เหตุระเบิดไฟไหม้โรงงานสารเคมีในย่านกิ่งแก้ว สมุทรปราการ เมื่อเช้ามืดวันจันทร์ที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ดี ๆ ทำให้คนกรุงเทพฯ ต้องหวาดผวาจากสารพิษในอากาศ เพิ่มเติมจากไวรัส

ความไม่แน่นอนอาจสร้างผลกระทบไม่มากนักสำหรับผู้ที่เตรียมความพร้อม มีหลังพิง และปรับตัวได้รวดเร็ว ขณะเดียวกัน สามารถสร้างผลกระทบทางลบอย่างใหญ่หลวงได้แทบล้มทั้งยืนแก่ผู้เปราะบาง การประเมินความไม่แน่นอนอย่างรอบคอบ เพื่อเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะประเมินไว้ 3 ด้าน ได้แก่ (1) โอกาสที่จะเกิด (likelihood) หมายถึง ความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์นั้น ๆ (2) ผลกระทบ (impact) หมายถึง ขนาดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และ (3) ระดับของความเสี่ยง (degree of risk) หมายถึง สถานะของความเสี่ยงที่ได้จากการประเมินโอกาสและผลกระทบข้างต้น และสุทธิออกมาเป็นระดับความเสี่ยง เช่น โอกาสเกิดน้อยและผลกระทบน้อย อาจจัดว่ามีระดับความเสี่ยงต่ำ หรือโอกาสเกิดน้อยแต่ผลกระทบรุนแรงมาก อาจจัดว่ามีระดับความเสี่ยงสูง เป็นต้น

ในแวดวงการเงิน โดยเฉพาะการลงทุน มีการประเมินความเสี่ยงในทางลบเป็นตัวเลขไว้ล่วงหน้า เรียกกันว่า “VAR” หรือ Value at Risk ซึ่งหมายถึง การวัดความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นแบบสุดโต่ง ภายในช่วงระยะเวลาหนึ่งข้างหน้าและระดับความเชื่อมั่นหนึ่ง ๆ เช่น 95% โดยวัดเป็นมูลค่าความเสียหาย ยกตัวอย่างเช่น one-day 95% VAR of 50 million THB แปลว่า ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ความเสียหายสูงสุดต่อวันของบริษัทจะไม่เกิน 50 ล้านบาท อีกมุมหนึ่งคือ ภายใน 95 จาก 100 วันข้างหน้า ความเสียหายสูงสุดต่อวันของบริษัทจะไม่เกิน 50 ล้านบาท หรืออาจจะบอกได้ว่าภายใน 100 วันข้างหน้ามีเพียง 5 วันเท่านั้น ที่บริษัทจะขาดทุนเกินกว่า 50 ล้านบาทต่อวัน ทั้งนี้ การคำนวณ VAR มีหลายวิธี จะใช้ข้อมูลในอดีตหรือทำด้วยแบบจำลองก็ได้

เมื่อประเมินความเสี่ยงได้แล้ว ขั้นตอนสำคัญคือการบริหารความเสี่ยงนั้นให้เหมาะสมที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยมากองค์กรจะมี 4 วิธี ซึ่งระดับบุคคลก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ ได้แก่ การยอมรับความเสี่ยง (risk acceptance) เนื่องจากไม่คุ้มค่าในการจัดการควบคุมความเสี่ยง หรือความเสี่ยงนั้นอยู่ในระดับต่ำและยอมรับได้ การลดความเสี่ยง (risk reduction) เป็นการปรับปรุงระบบการทำงานใหม่เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงขึ้น หรือลดผลกระทบให้อยู่ในระดับที่บุคคลหรือองค์กรยอมรับได้ เช่น การ Work from Home ในงานที่ไม่จำเป็นต้องทำที่ออฟฟิศ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การกระจายความเสี่ยงหรือโอนความเสี่ยง (risk sharing) เป็นการกระจายหรือถ่ายโอนความเสี่ยงให้ผู้อื่นช่วยแบ่งความรับผิดชอบไป เช่น การทำประกันในระดับบุคคลหรือบริษัทจากอุบัติเหตุเภทภัยต่าง ๆ การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ธุรกิจส่งออกและนำเข้าสามารถรองรับความผันผวนจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินได้ (แม้บางครั้งอาจจะเสียดายกำไรจากค่าเงิน แต่ในทางกลับกันธุรกิจก็สามารถเจ๊งไม่เป็นท่าได้จากการขาดทุนจากค่าเงินเช่นกัน หากไม่มีการบริหารความเสี่ยง) และสุดท้าย การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk avoidance) เป็นการจัดการความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงจนบุคคลหรือหน่วยงานไม่อาจยอมรับได้ จึงต้องตัดสินใจยกเลิกโครงการหรือกิจกรรมนั้น เช่น การจัดผังเมืองโดยย้ายโรงงานอันตรายออกจากเขตพื้นที่เมือง ซึ่งแน่นอนว่าภาครัฐสามารถเสนอความช่วยเหลือแก่โรงงานที่ตั้งอยู่แล้วในทางภาษีหรือด้วยมาตรการอื่น ๆ เอื้อให้โรงงานย้ายออกจากพื้นที่ชุมชนที่หนาแน่นขึ้นตามกาลเวลาได้

ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน เป็นของธรรมดาอยู่คู่กับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลก VUCA+ ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เราสามารถรู้เท่าทันความไม่แน่นอนเหล่านั้นและจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากวางแผนรับมือไว้ไม่ว่าจะด้วยการประเมิน การบริหารและการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง หรือแม้กระทั่งหมั่นสร้างเกราะป้องกันใจตนเองในระดับบุคคลให้รู้เท่าทันความไม่แน่นอนอันเป็นธรรมดาของโลกใบนี้อย่างสม่ำเสมอครับ


ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

คอลัมน์ "บางขุนพรหมชวนคิด" นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่
10 กรกฎาคม 2564



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย