นางสาวนภาพร เลขาวิวัฒนกุล
ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งกำลังเติบโตและมีการแข่งขันสูง ประชาชนต้องทำมาหากินเพื่อสร้างความเป็นดีอยู่ดีให้แก่ตนเองและครอบครัว ลำพังการออมเพื่อใช้เป็นทุนในการก่อร่างสร้างตัวก็อาจไม่เพียงพอและทันต่อการแข่งขัน ประชาชนหรือผู้ประกอบการรายเล็กๆ ก็อาจพบปัญหาว่าไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อต่างๆ เพื่อนำไปประกอบอาชีพได้ เพราะว่าไม่มีหลักฐานหรือหลักประกันประกอบการขอสินเชื่อ
ในช่วงนี้เราก็อาจได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เรียกกันว่าไมโครไฟแนนซ์บ่อยขึ้น ไมโครไฟแนนซ์คืออะไร จะสร้างโอกาสให้แก่ประชาชน สร้างรายได้และความเป็นดีอยู่ดีให้แก่ตนเองและครอบครัวได้อย่างไร
ไมโครไฟแนนซ์ โดยทั่วไปหมายถึง บริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก เงินกู้ ประกันภัย หรือการโอนเงิน ที่มีมูลค่าไม่มากนัก ซึ่งเหมาะสมกับความต้องการของประชาชนรายย่อยๆ ไมโครไฟแนนซ์ไม่ใช่ธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ผู้ให้บริการที่มีลักษณะเข้าข่ายไมโครไฟแนนซ์มีอยู่หลายแห่ง ดำเนินการโดยทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมุ่งส่งเสริมทั้งเรื่องการออมเงินและสนับสนุนเงินกู้เพื่อการประกอบอาชีพสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์จำนวนมากในหลายประเทศก็ประสบผลสำเร็จในการประกอบธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ที่สร้างโอกาสจากสิ่งที่หลายคนมองข้ามไป ให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจ รวมทั้งขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น ครอบคลุมกลุ่มที่มีศักยภาพ เพียงแต่เดิมคนกลุ่มนี้ไม่มีหลักประกันหรือหลักฐานที่แสดงฐานะการเงินที่ตรงกับวิธีการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เดิม สำหรับกรณีของประเทศไทย แม่ค้าขายของซึ่งไม่มีบ้านหรือที่ดินเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงิน แต่มีแผงขายของในทำเลดีๆ ซึ่งถือว่ามีมูลค่าและเป็นเครื่องมือทำมาหากิน ก็อาจถือว่าเป็นหลักฐานของฐานะการเงินที่ดีเพื่อการกู้ยืมเงินได้
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ประสบผลสำเร็จในตลาดไมโครไฟแนนซ์ คือ ความสามารถในการคิดรูปแบบการให้บริการที่เหมาะสมกับลักษณะของลูกค้ากลุ่มนี้ อาทิ การให้บริการนอกสถานที่เพื่อความสะดวกของลูกค้า การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้มีต้นทุนการให้บริการที่ถูกลง อาทิ บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการใช้เครื่องมืออื่นในการโอนเงิน เช่น โทรศัพท์มือถือ (e-payments and mobile payments) ซึ่งสามารถให้บริการทางการเงินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และประหยัด หรือปรับรูปแบบการให้บริการสินเชื่อ จากการใช้หลักประกันมาเป็นการค้ำประกันโดยกลุ่มบุคคล ซึ่งวิธีนี้เป็นการใช้กติกาชุมชนเพื่อสอดส่องดูแลให้สมาชิกในกลุ่มมีวินัยในการชำระหนี้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญสุดที่จะส่งผลให้การประกอบธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ประสบผลสำเร็จ คือความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อสังคมของผู้เกี่ยวข้องทุกๆ คน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ธนาคารพาณิชย์ หรือ ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกแนวนโยบายที่สนับสนุนการประกอบธุรกิจในรูปแบบนี้ของธนาคารพาณิชย์ ให้สามารถให้บริการในรูปแบบที่เหมาะสมกับลักษณะของลูกค้าได้อย่างคล่องตัวขึ้น แต่ยังคงมาตรฐานเพื่อรักษาความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ต่อไป
และสุดท้าย ตัวลูกค้าเองก็ต้องมีความรับผิดชอบและวินัยทางการเงิน สามารถสร้างความมั่นใจให้ธนาคารพาณิชย์ในการให้สินเชื่อต่อไป
ไมโครไฟแนนซ์ อาจไม่ใช่ยาวิเศษที่จะทำให้ปัญหาทุกอย่างหมดไปได้ แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับประชาชนหรือธุรกิจรายย่อยในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ และเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขามากมายมีบทบาทในการให้บริการด้านนี้มากขึ้น เมื่อผนวกกับการพัฒนาในด้านอื่นๆ ไม่ว่าทางเศรษฐกิจและสังคม ในที่สุดเราอาจเห็นประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยๆ ในสังคมสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเองอย่างภาคภูมิใจ และสามารถหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่คนรอบข้าง และเป็นกำลังของเศรษฐกิจไทยได้ต่อไปในอนาคต
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย