ดร. นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
เป็นเรื่องน่ายินดีที่สถาบัน IMDWorld Competitiveness Center ได้ประกาศให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากอันดับที่ 30 มาอยู่ที่อันดับที่ 25 ของ 63 ประเทศทั่วโลกในปี 2019 ไทยจึงมีอันดับดีขึ้นมาอยู่ที่ 8 จากที่ 10 ของ 14 ประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก และแม้ว่าไทยจะยังอยู่ในอันดับ 3 ของกลุ่ม 5 ประเทศอาเซียน คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ก็ถือว่าขยับเข้าใกล้มาเลเซียซึ่งยังทรงตัวอยู่ในอันดับที่ 22 ไปอีกก้าว
อย่างไรก็ดี อันดับการแข่งขันเป็นตัวเลขที่ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงได้ทุกปี การยึดติดกับตัวเลขอันดับในปัจจุบัน คงไม่ต่างจากนักกีฬาที่พอใจกับผลการแข่งขันนัดล่าสุด แต่ลืมไปว่าสาระสำคัญของการแข่งขัน คือ การเปรียบเทียบความสามารถของตัวเองกับคู่แข่ง สำหรับค้นหาจุดอ่อนและจุดแข็ง เพื่อพัฒนาตัวเองต่อไป ในวันนี้ จึงขอเชิญทุกท่านมาร่วมกันค้นหาว่าผลการจัดอันดับนี้จะช่วยให้เราเห็นว่าจะทำอย่างไรให้ขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นได้อีก
ก่อนอื่นขออธิบายการจัดอันดับการแข่งขันของ IMD อย่างคร่าว ๆ ว่า ได้พิจารณาปัจจัยสี่ประการ คือ ภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาครัฐ ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยในแต่ละปัจจัยจะแบ่งเป็นห้าด้านย่อย และสามารถจำแนกได้ถึง 255 เครื่องชี้วัด ซึ่งในภาพรวมแล้วไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นเกือบทุกปัจจัย ยกเว้นในหมวดประสิทธิภาพธุรกิจ โดยแรงส่งที่ทำให้อันดับของไทยดีขึ้น ได้แก่ การลงทุนจากต่างประเทศที่ดีขึ้นมาก กฎหมายและระเบียบที่มีความทันสมัยคล่องตัวมากขึ้น ตลอดจน มีการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจในปีก่อนได้สนับสนุนให้ไทยมีอันดับดีขึ้น จึงน่าสนใจว่าเมื่อมองไปข้างหน้าอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยจะเป็นอย่างไรท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังมีความผันผวนสูง นอกจากนี้ เมื่อมองลงลึกผ่าน 63 เครื่องชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและทรัพยากรมนุษย์จากทั้งหมด 255 เครื่องชี้ จะพบว่าไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านนี้ต่ำกว่าอันดับเฉลี่ยในภาพรวม และสามารถแยกจุดเปราะบาง เป็น สองประเด็น คือ ประเด็นแรก ด้านโครงสร้างประชากรและความเหลื่อมล้ำ จากเครื่องชี้ด้านจำนวนประชากร ประชากรวัยทำงาน และการมีงานทำ ซึ่งขยายตัวชะลอลงตามการก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย และจากเครื่องชี้ด้านความไม่เท่าเทียมด้านสิทธิสตรีในทางเศรษฐกิจและสังคม และ ประเด็นที่สอง ด้านทักษะความสามารถของแรงงานตลอดช่วงชีวิต เริ่มตั้งแต่คุณภาพของระดับการศึกษาของเด็กไทย จำนวนครูที่ไม่เพียงพอ คะแนนทดสอบที่อยู่ในระดับต่ำทั้งในระดับมัธยมและอุดมศึกษา ไปจนถึงการขาดทักษะจำเป็นในการทำงาน เช่น ภาษาอังกฤษ และความรู้พื้นฐานทางการเงิน ปัญหาเหล่านี้เป็นที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อคนมีแนวโน้มต้องใช้ชีวิตในการทำงานยาวนานขึ้นเพื่อให้สามารถเก็บเงินเลี้ยงดูตนเองในวัยชรา โดยหวังพึ่งพาบุตรหลานได้น้อยลง ดังนั้นแรงงานจึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะตลอดชีวิต
โดยสรุปแล้ว เรายังคงไม่สามารถสบายใจได้กับอันดับความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นจากปัจจัยชั่วคราวด้านเศรษฐกิจ เพราะปัญหาด้านแรงงานที่เรากำลังเผชิญจะเป็นสิ่งกีดขวางไม่ให้เรายกระดับความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้นกว่าอันดับกลาง ๆ ในปัจจุบันได้ จึงควรอาศัยโอกาสสำคัญจาก โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor- EEC ที่ได้สร้างสนามทดลองในการพัฒนาแรงงานด้วยการให้ความยืดหยุ่นหลายด้าน ทั้งการลดระเบียบกฎเกณฑ์ในการนำเข้าบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ และการสนับสนุนการพัฒนาอบรมความรู้ความสามารถของแรงงานในประเทศ เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หนทางในการพัฒนาแรงงาน จนนำไปสู่การขยายผลในวงกว้างเพื่อให้อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย