​ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทางออกของไทย

ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ น.ส.พรชนก เทพขามฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ



การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นทางออกสำคัญในภาวะที่การฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด 19 มีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน และเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง จึงต้องอาศัยการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่ตรงจุด ครบวงจร และยืดหยุ่น ควบคู่ไปกับการยกระดับและปรับทักษะแรงงาน รวมทั้งการปรับรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ

หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจอาจทยอยปรับดีขึ้น แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความแตกต่างกัน บางธุรกิจกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อน อาทิ เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และการค้า แต่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังขาดลูกค้าสำคัญอย่างนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คาดว่าในปีนี้จะเหลือน้อยกว่า 7 ล้านคน เทียบกับ 40 ล้านคนในปีก่อน ขณะที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่า กิจกรรมเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติเมื่อใดหลังผลิตและแจกจ่ายวัคซีนได้ในวงกว้าง ผลกระทบของโควิด 19 จึงมีแนวโน้มจะยาวนานกว่าที่ได้ประเมินไว้

หากมองย้อนไปก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 รายงาน The Global Risks Report 2020 ของ World Economic Forum ระบุว่าความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดรุนแรงทั่วโลกมีค่อนข้างต่ำ คือมีโอกาสเกิดน้อยมาก ใกล้เคียงกับการเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงและการเกิดสงครามนิวเคลียร์ สถานการณ์โควิด 19 จึงเป็นบททดสอบถึงความพร้อมต่อการรับมือกับความเสี่ยงในลักษณะความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นไม่มาก แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะมีความรุนแรงมาก การทำงานในรูปแบบเดิม ๆ หรือการปรับตัวด้วยความเร็วเท่าเดิมจึงไม่เพียงพอที่จะรับมืออีกต่อไป การปรับโครงสร้างที่ตรงจุด ครบวงจร และยืดหยุ่น จึงเป็นทางออกสำคัญ โดยอาจจำแนกการปรับโครงสร้างออกเป็น 3 ด้าน คือ ภาครัฐ ภาคแรงงาน และภาคธุรกิจ



ภาครัฐ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจะต้องตรงจุดในกลุ่มที่ยังฟื้นตัวช้า แก้ปัญหาครบวงจรได้ทั้งกระบวนการ ตลอดจนยืดหยุ่นเท่าทัน จากที่เน้นเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างซึ่งจะเป็นภาระต่องบประมาณมากหากสถานการณ์ยืดเยื้อ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เป็นการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัว สถาบันการเงินสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยคงสถานะลูกหนี้ไม่ให้เป็นหนี้เสีย NPL ระหว่างการเจรจาจนถึงสิ้นปีนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินพิจารณาระยะเวลาชะลอการชำระหนี้เป็นรายกรณีได้อีกไม่เกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปี ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ โดยมีลูกหนี้เพียงร้อยละ 6 ของยอดสินเชื่อที่ได้รับการพักหนี้และยังอยู่ระหว่างการติดต่อของธนาคารพาณิชย์หรือยังติดต่อไม่ได้

อีกตัวอย่างการปรับโครงสร้างของภาครัฐ คือ มาตรการด้านแรงงานที่กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพหลักและ ธปท. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำเว็บไซด์ www.ไทยมีงานทำ.com เป็นแพลตฟอร์มกลางจับคู่งานให้แรงงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อแก้ปัญหาการว่างงานที่ตรงจุด เป็นกลไกที่เอื้อให้แรงงานทราบถึงทักษะที่เป็นที่ต้องการ ตลอดจนภาครัฐจะสามารถสนับสนุนการยกระดับและปรับทักษะแรงงานให้เหมาะสม ผ่านการออกแบบนโยบายร่วมกันกับผู้แทนภาคธุรกิจ คือ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้คุมแผน และกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลงบประมาณ ซึ่ง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 63 มีนายจ้างเปิดรับตำแหน่งงานทั้งสิ้น 4.5 แสนตำแหน่ง ทั้งนี้ ตัวเลขสถิติการใช้งานสะท้อนถึงปัญหาอีกด้านของตลาดแรงงานไทย คือ ความไม่สอดคล้องกันระหว่างความต้องการของนายจ้างกับของแรงงาน หลังตำแหน่งงานเกือบ 2 แสนตำแหน่งอยู่ในภาคการผลิต แต่จำนวนการสมัครงานในภาคการผลิตกลับมีเพียง 1.2 หมื่นครั้ง จากผู้สมัครประมาณ 7 พันคน คิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของจำนวนการสมัครงานทั้งหมด ซึ่งปัญหานี้จะต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างครบวงจรระหว่างผู้ฝึกอบรม ผู้แทนฝั่งนายจ้าง และผู้แทนแรงงาน



ภาคแรงงาน แรงงานต้องยกระดับและปรับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยแรงงานในภาคการท่องเที่ยวอาจต้องปรับตัวให้มีทักษะเพียงพอที่จะย้ายไปยังสาขาการผลิตที่มีความต้องการแรงงานมากกว่า ขณะที่แรงงานในภาคเกษตรอาจต้องศึกษาแนวทางการใช้งานนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อรับมือความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่เดิมก่อนโควิด 19 ทั้งกระแสการก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยที่เข้มข้นขึ้น สะท้อนจากจำนวนคนที่อายุเกิน 60 ปีแล้ว แต่ยังทำงานอยู่เพิ่มสูงขึ้นจาก 3 ล้านคนเป็นเกือบ 4 ล้านคนในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา และการใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานมีมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีลูกจ้างในระบบประกันสังคมเกือบ 8 แสนคน

ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสะท้อนว่า แรงงานที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปได้รับรายได้เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 30 เทียบกับก่อนสำเร็จการศึกษา และโดยเฉลี่ยแล้วแรงงานในกลุ่มปริญญาตรีขึ้นไปซึ่งเคยเข้ารับการพัฒนาทักษะ จะมีรายได้สูงกว่ากลุ่มที่ไม่เคยเข้ารับการพัฒนาทักษะเกือบร้อยละ 15 จึงยืนยันได้ว่าการพัฒนาทักษะจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน โจทย์สำคัญ คือ แรงงานจะสามารถบริหารจัดการตัวเองให้เข้ารับการอบรมได้อย่างไรในภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจนี้ ภาครัฐควรออกแบบมาตรการสร้างแรงจูงใจให้แรงงานและนายจ้างเข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะแรงงาน ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการเยียวยาในระยะสั้น แต่จะช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย




ภาคธุรกิจ การปรับโครงสร้างสำคัญ คือ การปรับรูปแบบธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ แม้อาจมีเพียงส่วนน้อยที่ให้ความสำคัญกับแผนฉุกเฉินล่วงหน้าจนสามารถรับมือกับสถานการณ์ครั้งนี้ได้ดีและอาจพลิกวิกฤตขึ้นเป็นโอกาส เช่น ขยายตลาด e-Commerce และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สะท้อนจากตัวเลขปริมาณการโอนเงินและชำระเงินผ่านอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วจาก 6 แสนครั้งในเดือน ธ.ค. ปีก่อน มาเป็นเกือบ 9 แสนครั้งในเดือน ส.ค. นี้ แต่สำหรับผู้ประกอบการส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กซึ่งมีสายป่านสั้นหรือมีฐานะการเงินเปราะบางอยู่ก่อนวิกฤตครั้งนี้ อาจอยู่นอกแผนและไม่ได้เตรียมตัวรับมือ การปรับรูปแบบการบริหารจัดการในจังหวะที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็น ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งสามารถปรับตัวรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ เห็นได้จากตัวเลขผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งถึงกว่า 4 แสนราย ประกอบด้วยร้านค้าหาบเร่แผงลอยกว่า 50,000 แห่ง ซึ่งการเข้าร่วมโครงการไม่เพียงแต่จะได้รับผลดีจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น แต่จะเป็นการปรับรูปแบบธุรกิจรายย่อยให้คุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลง และอาจพัฒนาต่อยอดไปสู่การประยุกต์ใช้เครื่องมือบนแพลตฟอร์มสมัยใหม่เพื่อลดต้นทุนในการบริหารจัดการ การเข้าถึงลูกค้ารายใหม่ ตลอดจนการนำข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลของภาครัฐและสถาบันการเงินซึ่งจะเอื้อให้สามารถเข้าถึงสภาพคล่องได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

หลายวิกฤตการณ์ในช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้เกิดความเสียหายและบาดแผลทางเศรษฐกิจ แต่ก็ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ปรับตัว ภาคส่งออกไทยกลายเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 สถาบันการเงินไทยบ่มเพาะกันชนตามเกณฑ์สากลได้อย่างดีเยี่ยมหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 52 หากวิกฤตครั้งนี้จะนำมาสู่การผสานรูปแบบการดำเนินนโยบายภาครัฐที่ตรงจุด ครบวงจร และยืดหยุ่น เข้ากับการจัดเตรียมแผนฉุกเฉินในเชิงรุกของเอกชน ตลอดจน การมุ่งยกระดับและปรับทักษะของแรงงาน เชื่อได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>