ตัวเลขประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565 ที่หลายสำนัก อาทิ แบงก์ชาติ ได้ประเมินว่าจะเติบโต 3.3% สูงกว่าปีก่อนที่ 1.5% กว่าเท่าตัว ควบคู่ไปกับการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจทำให้เรารู้สึกว่าผู้ดำเนินนโยบายกำลังรู้สึกว่าเศรษฐกิจดี จนต้องเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายมาเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นหรือไม่ มุมมองนี้สอดคล้องกับคำเปรียบเปรยคลาสสิกที่ว่าหน้าที่ของธนาคารกลาง คือ “การยกเอาถังเหล้าออกไปจากงานฉลอง เมื่องานเริ่มสนุก” หรือ การแตะเบรกเครื่องยนต์เศรษฐกิจก่อนที่จะเร่งตัวจนเครื่องไหม้ในภายหลัง ในวันนี้จะขอเชิญทุกท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองว่าตัวเลข GDP โตแค่นี้ เศรษฐกิจดีแค่ไหน ? ถึงเวลาร้อนแรงหรือไม่ ?
แน่นอนว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคไม่ได้อาศัยเพียงตัวเลขเศรษฐกิจใดเพื่อประกอบการตัดสินใจเพียงอย่างเดียว เพราะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี อาจไม่ได้ก่อให้เกิดความร้อนแรงหากไม่ได้มีสัญญาณพฤติกรรมรับความเสี่ยงในตลาดการเงินเกินควร อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายในปัจจุบันให้ความสำคัญกับเสถียรภาพด้านราคา ที่แม้จะได้รับผลกระทบจากด้านอุปทาน โดยเฉพาะราคาพลังงาน แต่ก็ทำให้ประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลกต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัด จนผู้เล่นในตลาดการเงินทั่วโลกเริ่มกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความกังวลทั้งต่อเงินเฟ้อในวันนี้และความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป การหันหลังกลับมามองที่มาของการเติบโตในอดีตอาจช่วยให้เราเข้าใจฐานของเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
จิตเกษม พรประพันธ์ และคณะ 2565 ได้ทำการประเมินพัฒนาการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในรอบสามทศวรรษที่ผ่านมา โดยได้จำแนกองค์ประกอบในการเติบโตทางเศรษฐกิจออกเป็นหลายมิติ ทั้งในส่วนของการใช้ปัจจัยการผลิตเช่นแรงงานและทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานและทุนจากสาขาเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปยังสาขาเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง และการเติบโตจากผลิตภาพการผลิตรวมภายในแต่ละสาขาเศรษฐกิจเอง โดยพบว่าเศรษฐกิจไทยในรอบสามสิบปีนี้เติบโตเฉลี่ยที่ 3.6% ต่อปี จึงถือว่าตัวเลขประมาณการปีนี้ที่ร้อยละ 3.3% ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยบ้าง
การมองจากค่าเฉลี่ยเพียงอย่างเดียว ย่อมมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในอดีตมีช่วงฟองสบู่เห็นได้จากการสะสมทุนอย่างมากในช่วง 1991-1995 แต่เป็นการเคลื่อนย้ายทุนผิดทิศ คือ ย้ายทุนจากสาขาเศรษฐกิจที่ผลิตภาพสูงไปสาขาที่ผลิตภาพต่ำ จนก่อให้ผลลบต่อ GDP ที่ร้อยละ -0.9 ต่อปีโดยเฉลี่ย ขณะที่แรงส่งจากการเพิ่มชั่วโมงการทำงานควบคู่ไปกับการเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังสาขาที่มีผลิตภาพสูงขึ้นได้ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยถึง 1.5% ต่อปีในช่วง 1991-2010 แต่ในทศวรรษล่าสุดกลับกลายเป็นทรงตัวโดยเฉลี่ย ตามทิศทางของการก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยของไทย จึงทำให้เราอาจจะไม่ได้สามารถใช้ปัจจัยการผลิตเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกต่อไป
นอกจากที่มาของการเติบโตของ GDP จะน่าสนใจแล้ว ตัวเลขของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อธิบายไม่ได้ด้วยแบบจำลอง หรือที่เรียกได้ว่าเป็นส่วนต่างของ GDP ที่แบบจำลองฟังก์ชันการผลิต อธิบายไม่ได้นั้น น่าจะช่วยให้อีกมุมมองว่าเศรษฐกิจขยายตัวสอดคล้องกับการใช้ปัจจัยการผลิตหรือไม่ ซึ่งพบว่าหากแยกค่าเฉลี่ยของการเติบโตออกเป็นช่วงละ 5 ปี แล้ว ไทยจะมีเพียงช่วงปี 1991-1995 และ 2006-2010 ที่ตัวเลข GDP สูงกว่าตัวเลขที่แบบจำลองประเมิน หรือ อาจเรียกได้ว่าโตเกินระดับที่ปัจจัยการผลิตจะเอื้อได้ ขณะที่ ตัวเลขในช่วงเวลาอื่น สะท้อนการเติบโตน้อยกว่าที่ควร หรือยังมีช่องว่างด้านประสิทธิภาพการผลิตให้พัฒนาอีก น่าสังเกตว่าแบบจำลองอธิบายเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี กล่าวคือ แทบจะไม่มีส่วนต่างที่แบบจำลองอธิบายไม่ได้ สอดคล้องกับการใช้ปัจจัยการผลิตได้ไม่เต็มที่ ขณะที่ ผลิตภาพรวมในสาขาเศรษฐกิจหดตัวมากในปี 2020
คำถามที่น่าสนใจ คือ เมื่อมองไปข้างหน้าแล้วปัจจัยใดจะมาทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ ข้อมูลในช่วงปกติก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนว่าปัจจัยที่ยังมีโอกาสเติบโตคือผลิตภาพรวมภายในสาขาเศรษฐกิจที่โต 1.9% เกินครึ่งหนึ่งของการเติบโตรวมในช่วงปี 2016-2019 ซึ่งเมื่อจำแนกแล้วจะพบว่ามาจากสาขาเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว คือ การค้า โรงแรมและภัตตาคาร และการขนส่งถึง 1.2% และมาจากภาคบริการอื่น ๆ อีก 0.7% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการเกษตรมีผลิตภาพรวมภายในสาขาเศรษฐกิจทรงตัว
โดยสรุปแล้ว หากเศรษฐกิจกลับมาเข้าที่เข้าทาง ภาคการท่องเที่ยวและบริการกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ก็อาจยังทำให้เรามีความหวังว่า GDP 3.3% จะสะท้อนเศรษฐกิจดีได้ แต่หากทั่วโลกเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจนกระทบต่อการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ก็มีโอกาสที่ฟังก์ชันการผลิตของไทยจะไม่สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะขอยกการหารือเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าไว้แลกเปลี่ยนมุมมองในบทความตอนต่อไป
ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์
ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน
ดร.นครินทร์ อมเรศ
จีรพรรณ โอฬารธนาเศรษฐ์
สายนโยบายการเงิน
คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2565
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
>>