นายพรหมวรัท ประดิษฐ
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
“หากพลิกมุมมองการวิเคราะห์ SMEs ตามสัดส่วนมูลค่าการส่งออกของบริษัทต่อมูลค่าการส่งออกรวมของไทยในแต่ละปี (Market Share) เพื่อใช้มูลค่าของธุรกรรมสะท้อนขนาดของบริษัท สะท้อนว่าแท้จริงแล้วการฟื้นตัวของภาคการส่งออกในระลอกนี้ นอกจากขยายตัวในเกือบทุกสินค้าและตลาดแล้ว ยังขยายตัวดีในทุกขนาดบริษัททั้งใหญ่ กลางและเล็ก”
ในปี 2560 ภาคการส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งและทำ หน้าที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้งหลังจากอยู่ในภาวะส่งไม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าการส่งออกที่ดีขึ้นในระลอกนี้กลับไม่ได้ทำให้ประชาชน “รู้สึก” ว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นอย่างที่แล้วมา ทั้งยังมีการแสดงความเห็นกันในวงกว้างว่า “การส่งออกที่ดีกระจุกตัวอยู่ในผู้ประกอบการขนาดใหญ่ไม่กี่ราย” ขณะที่ SMEs ไม่ค่อยได้ประโยชน์ โดยหลักฐานหนึ่งที่ถูกยกมาอ้างอิงถึงคือข้อมูลมูลค่าการส่งออกของผู้ผลิตที่ถูกให้คำนิยามว่าเป็น SMEs โดยจัดกลุ่มตามสินทรัพย์ถาวร และจำนวนการจ้างงาน (ตามกฎกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2545) ที่ยังคงหดตัวสวนทางกับภาพการส่งออกโดยรวมที่ขยายตัวดี (รูปที่ 1)
อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบทและโครงสร้างเศรษฐกิจโลกและไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมากในปัจจุบันทั้งกระแส Automation และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ภาคการผลิตไม่จำเป็นต้องพึ่งการจ้างงานจำนวนมากเช่นในอดีต รวมทั้งธุรกิจบริการที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนในเครื่องจักรขนาดใหญ่ อาทิ ผู้ส่งออกและนำเข้าทองคำ หรือผู้ประกอบการ e-Commerce ที่มีลักษณะธุรกิจแบบซื้อมาขายไป ธุรกิจเหล่านี้ถูกนิยามว่าเป็นSMEs ทั้งที่จริง ๆ แล้วมีมูลค่าธุรกรรมจำนวนมหาศาล ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ภาพรวมการส่งออกของกลุ่ม SMEs ที่ยังหดตัวส่วนใหญ่ก็มาจากการส่งออกทองคำที่มีผลของฐานสูงในช่วงระยะเดียวกันของปีก่อนนี่เอง การมองภาพการส่งออกของ SMEs ผ่านมุมมองของเกณฑ์ดังกล่าวจึงอาจมีข้อจำกัดในการสะท้อนภาพความเป็นจริงของ SMEs ส่วนใหญ่ที่มักมีมูลค่าการส่งออกน้อย
ผู้เขียนจึงขอนำเสนอแนวทางการวิเคราะห์ภาวะการส่งออกของ SMEs ในอีกมุมมองหนึ่งที่ต่างไปจากเดิม โดยปรับวิธีการแบ่ง SMEs ตามสัดส่วนมูลค่าการส่งออกของบริษัทต่อมูลค่าการส่งออกรวมของไทยในแต่ละปี (Market Share) โดยให้นิยามตามตารางที่ 1 เพื่อใช้มูลค่าของธุรกรรมสะท้อนขนาดของบริษัท อย่างไรก็ตาม การแบ่งผู้ประกอบการด้วยเกณฑ์ Market Share ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน กล่าวคือ ในกรณีที่บริษัทขนาดใหญ่เน้นจำหน่ายสินค้าในประเทศและมีสัดส่วนการส่งออกน้อย จะทำให้บริษัทขนาดใหญ่ประเภทนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดเล็ก และเกณฑ์ดังกล่าว อาจไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับ SMEs ของต่างประเทศได้ เนื่องจาก Market Share ในที่นี้เป็นการเปรียบเทียบกับมูลค่าการส่งออกของไทยเท่านั้นฐานการเปรียบเทียบจึงมีความแตกต่างกัน
เมื่อวิเคราะห์ลงไปในเชิงลึกพบว่าการส่งออกของทั้ง Small และ Medium Exporter ที่ขยายตัว
ดีกว่าภาพรวมส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มีตลาดหลักอยู่ใน CLMV ที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังขยายตัวดีต่อเนื่อง และมีสินค้าออกส่วนใหญ่ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์ และสินค้าเกษตร ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่ขยายตัวน้อยกว่า และหากมองย้อนไปในอดีตในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มLarge Exporter นี้กลับเป็นตัวฉุดสำคัญที่ทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทยหดตัวอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ การส่งออก Hard Disk Drive ที่อุปสงค์ของโลกลดน้อยลงจากความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปนิยม Solid State Drive มากขึ้น การส่งออกรถยนต์ที่อุปสงค์จากประเทศตะวันออกกลางชะลอลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงการที่ MNCs มีการขยายฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นนอกจากนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ภาพรวมการส่งออกของกลุ่ม Large Exporter ยังถูกฉุดด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำที่มีผลของฐานสูงในปีก่อน (การจัดนิยามตามเกณฑ์ใหม่นี้ทำให้บริษัทส่งออกทองคำรายใหญ่เปลี่ยนจากผู้ประกอบการ SMEs มาอยู่ในกลุ่ม Large)
คำถามสำคัญที่ตามมาคือ หากแท้จริงแล้ว SMEs ส่งออกได้ดี ทำไม “ความรู้สึก” โดยรวมของ SMEs ไทยยังไม่ดีขึ้น โปรดติดตามได้ในฉบับถัดไป