นางสาวปริญดา สุลีสถิร

หากใครติดตามข่าวด้านเศรษฐกิจคงทราบว่า ในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้วอย่างค่อยเป็น ค่อยไป โดยมีแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ส่วนการส่งออกสินค้าก็เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนที่ผ่านมายังขยายตัวได้ไม่มากนัก คำถามที่ทุกคนสนใจคือ “ทิศทางการลงทุนภาคเอกชนในปี 2560 นี้จะเป็นอย่างไร”

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับ สำนักงานภาค 3 แห่ง ที่ขอนแก่น เชียงใหม่และ หาดใหญ่ ได้ลงพื้นที่พบปะภาคธุรกิจผ่านโครงการ Business Liaison Program สัมภาษณ์ผู้ประกอบการในหลากหลายสาขากว่า 800 บริษัทต่อปี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับทราบความรู้ความเข้าใจร่วมกับภาคธุรกิจถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งรวบรวมข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ทั้งการสำรวจความเห็นของนักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติ อาทิ หอการค้าญี่ปุ่นและหอการค้าอเมริกา ซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติกลุ่มสำคัญที่ประกอบธุรกิจในไทย ซึ่ง ธปท. ได้นำข้อมูลเศรษฐกิจเชิงลึกนี้มาใช้ประกอบการตัดสินใจนโยบายการเงินอย่างรู้ลึก ทันการณ์ และรอบด้าน ผลสรุปจากข้อมูลข้างต้น ทำให้มั่นใจได้ว่าการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้จะดีขึ้นจากปีก่อนด้วยข้อเท็จจริงดังนี้


ธุรกิจเริ่มมั่นใจและลงทุนมากขึ้น

เราเริ่มเห็นนักธุรกิจต่างชาติและไทยลงทุนขยายธุรกิจในปี 2560 มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยมองว่าตลาดอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม (กลุ่ม CLMV) ยังเติบโตดี และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนตามการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัว ราคาสินค้าเกษตรที่มีปรับตัวสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรและการบริโภคโดยรวมในประเทศ รวมทั้งเริ่มเห็นแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ทำให้สัดส่วนนักธุรกิจที่คาดว่าจะขยายการลงทุนในปีนี้เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนโดยเฉพาะในธุรกิจกลุ่มเคมีภัณฑ์ และกลุ่มยานยนต์

นอกจากนี้ เรายังเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นนี้ สะท้อนจากการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2559 มีธุรกิจยื่นขอ BOI 1,546 โครงการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 56 คิดเป็นเงินลงทุนเกือบ 6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบ 2 เท่าตัว ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตตามนโยบายของรัฐบาล (5 First S-Curves และ 5 New S-Curves) เช่น กิจการซอฟต์แวร์ดิจิทัล และอุตสาหกรรมยานยนต์ นักลงทุนญี่ปุ่นยังเป็นกลุ่มหลักที่ยื่นขอ BOI สูงที่สุดถึงเกือบ 1 ใน 5 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด เนื่องจากไทยมีห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งในกลุ่มยานยนต์และญี่ปุ่นมีความคุ้นเคยกับ ไทย เพราะมีการลงทุนในไทยจำนวนมากอยู่แล้ว และเรายังเริ่มเห็นนักลงทุนชาวจีนให้ความสนใจลงทุนเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ และการผลิต Solar Cell


โอกาสทางการตลาดของ 3 กลุ่มหลัก

ธุรกิจที่ขยายการลงทุนในปีนี้ มีทั้งธุรกิจเดิมที่ลงทุนต่อเนื่องจากปีก่อน และธุรกิจใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมองเห็นโอกาสทางการตลาดตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและ ต่างประเทศ จากการพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักธุรกิจคาดว่ากลุ่มธุรกิจที่จะขยายการลงทุนในปีนี้ มี 3 กลุ่มหลัก คือ

กลุ่มแรก คือ ธุรกิจการค้าและบริการที่ฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น เช่น ธุรกิจค้าปลีก ทั้งร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจโรงพยาบาล นักธุรกิจกลุ่มนี้ขยายการลงทุนต่อเนื่องตามแนวโน้มการขยายตัวของเมือง (Urbanization) และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความต้องการกิจกรรมในภาคบริการมากขึ้นตามระดับการพัฒนา ประกอบกับภาคท่องเที่ยวที่เติบโตดี โดยเฉพาะการขยายตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ตามเทรนด์ที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และระบบสุขภาพของไทยได้รับการยอมรับในคุณภาพ และแข่งขันได้เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

กลุ่มสอง คือ อุตสาหกรรมส่งออกที่เติบโตตามการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เช่น กลุ่ม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวต่อเนื่องตามวัฏจักรการฟื้นตัวของกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีจากความต้องการสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต หรือ Internet of Things (IoT) ที่ยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ที่ลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนสายการผลิต เพื่อรองรับการผลิตสินค้ารุ่นใหม่ จะเห็นได้ว่าธุรกิจกลุ่มนี้ลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างการผลิต โดยลงทุนในเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และในระบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและทดแทนการใช้แรงงานคน โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มยานยนต์ที่มีแนวโน้มหันมาใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรระบบอัตโนมัติมากขึ้น

กลุ่มสาม คือ อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับนโยบายของภาครัฐ อาทิ กลุ่มธุรกิจพลังงาน ทดแทนที่ได้รับผลดีจากนโยบายสนับสนุนพลังงานทางเลือก กลุ่มธุรกิจก่อสร้างขนาดเล็กซึ่งได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนในโครงการขนาดเล็กของภาครัฐที่มีมูลค่าโครงการต่ำกว่า 2 ล้านบาท เช่น การซ่อมแซมถนน การปรับปรุงอาคาร เป็นต้น


นิคมอุตสาหกรรมปรับเป้าเพิ่มรองรับการลงทุน

ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งเป้าการขายที่ดินในนิคมฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากนักธุรกิจหลายรายให้ความสนใจขยายการลงทุนในพื้นที่นิคมฯ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดชลบุรีและระยอง ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล หรือ 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-curves) ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะยานยนต์รุ่นใหม่ (Electrical Vehicle: EV) จากปัจจัยสนับสนุนของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยคาดว่า EEC จะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ถึงร้อยละ 10 ของ GDP หรือกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีและสร้างงานกว่า 2 แสนตำแหน่ง


หลายธุรกิจรุกลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน

การลงทุนยังไม่ขยายตัวดีนักในวงกว้าง เพราะ ยังมีธุรกิจบางกลุ่มที่ชะลอการลงทุน เช่น ธุรกิจ ก่อสร้างขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้ประกอบการยังรอดู ความชัดเจนของโครงการลงทุนรถไฟทางคู่ รถไฟ ความเร็วสูง และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งต้องใช้เวลาในกระบวนการคัดเลือก ประมูล และ อนุมัติโครงการกว่าจะลงทุนได้จริง ขณะที่ธุรกิจส่งออกข้าวและมันสำปะหลังมีการแข่งขันรุนแรงจากประเทศผู้ส่งออกสำคัญทั้งอินเดียและเวียดนาม สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เราเห็นการขยายตัวบ้างในกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบ แต่หดตัวในกลุ่มอาคารชุด เนื่องจากมีอุปทานเหลือขายจำนวนมากในบางทำเล ซึ่งคาดว่าโครงการอาคารชุดเปิดใหม่ในปีนี้จะทรงตัวจากปีก่อน

แม้บางธุรกิจจะชะลอการลงทุนไปบ้าง แต่เราสังเกตเห็นคลื่นการลงทุนของธุรกิจไทยที่มีศักยภาพขยายไปต่างประเทศ เช่น ธุรกิจอาหารแปรรูป และธุรกิจสิ่งทอ ที่ออกไปลงทุนและตั้งโรงงานในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อแสวงหาตลาดใหม่ที่มีการเติบโตสูง ลดต้นทุนการผลิต และเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ได้ลดภาษี GSP ในการส่งออกไปยังยุโรป โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงสุทธิของไทยในต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จาก 186 พันล้านบาท ในปี 2557 เป็น 503 พันล้านบาท ในปี 2559


ความชัดเจนและต่อเนื่องของภาครัฐเป็นกุญแจสำคัญ

จากทั้งข้อมูลเชิงสถิติและข้อมูลเศรษฐกิจเชิงลึกนี้ เราพอจะจับทิศการลงทุนได้ว่ามีแนวโน้มสดใสขึ้น นักธุรกิจให้ความเห็นว่าการลงทุนข้างหน้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งเพียงใดขึ้นกับเงื่อนไขสำคัญ คือ ภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำ มีบทบาทในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน และสร้างความต่อเนื่องของนโยบายทำให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติตามกำหนดเวลาที่ประกาศไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่างชาติจับตามอง โดยเฉพาะนโยบายสนับสนุนการลงทุนผ่านโครงการ EEC ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว แต่ต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นได้โดยเร็วในทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลดึงดูดภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุน (Crowding-in Effect) และทำให้การลงทุนภาคเอกชนของไทยพลิกฟื้นกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจไทยโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย