​เศรษฐกิจสหรัฐ ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง

ในฐานะที่สหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย (สัดส่วนมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐเท่ากับร้อยละ 15.4 จีนเป็นอันดับสองที่ร้อยละ 13.7) หากจะบอกว่า ฝน (เศรษฐกิจ) ที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้ ก็คงจะไม่ผิดนัก

Concept of economic recession during the coronavirus outbreak in United States, downtrend stock with red arrow and The Statue of Liberty with mask background; Shutterstock ID 1670166322; purchase_order: BOT; job: ; client: ; other:

ปลายเดือนที่แล้ว ผมเชื่อว่าหลายคนคงตื่นเต้นกับตัวเลขอัตราการขยายตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาสของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาติดลบติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สอง แม้ NBER ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประกาศภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯอย่างเป็นทางการจะออกมาบอกว่า เครื่องชี้รายเดือนหลักที่ NBER ใช้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรม การบริโภคภาคเอกชน และการจ้างงานนอกภาคเกษตร จะบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯยังห่างไกลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ด้วยความที่ทุกครั้งในอดีตที่จีดีพีแบบไตรมาสต่อไตรมาสของสหรัฐฯหดตัวติดต่อกันสองไตรมาส ไม่เคยมีครั้งไหนเลย ที่สุดท้ายแล้ว NBER จะไม่ระบุว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลายคนจึงยังไม่มั่นใจนักว่า พอเวลาผ่านไปสักระยะ NBER จะไม่กลับคำให้การ

อย่างไรก็ดี สำหรับเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอยไปแล้วหรือยัง ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 20.1 สูงกว่าการขยายตัวของส่งออกรวมที่ร้อยละ 12.7 และคาดกันว่าครึ่งหลังของปีน่าจะยังขยายตัวได้สองหลักอยู่ ซึ่งถ้าเราส่งออกไปสหรัฐฯได้ดีขนาดนี้ ผมว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะถดถอยก็ถดถอยไป

ที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นมากกว่ามาก คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯในปีหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะกระทั่งคนที่มองโลกในแง่ดีที่สุด คือ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ยังมองว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯปีหน้าจะไม่ถึงขั้นถดถอย แต่ก็จะชะลอลงจากปีนี้อย่างมีนัย (Soft landing) ซึ่งในกรณีแรกนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะยังชิลล์ๆ เพราะปัจจัยหลักที่หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีนี้และในปีหน้ามาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งรวมกันแล้วมีขนาดของแรงส่งทางเศรษฐกิจใหญ่กว่าส่งออกไทยไปสหรัฐฯมาก

กรณีที่สองซึ่งเป็นกรณีที่คนส่วนใหญ่เชื่อกัน คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างอ่อนๆ (Mild recession) ในปีหน้า จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด โดยตลาดมองว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 2.25-2.50 ต่อปีในปัจจุบัน ไปอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.50 ต่อปีภายในสิ้นปีนี้ ก่อนที่เฟดจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงภายในครึ่งแรกของปีหน้าหลังจากพบว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ดี ในกรณีนี้ แม้การถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยพอสมควร แต่ไม่น่าถึงกับทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องสะดุดลง ด้วยผมยังเชื่อว่าการใช้จ่ายในประเทศและการท่องเที่ยวน่าจะยังพอเอาชนะปัจจัยลบจากสหรัฐฯได้

กรณีสุดท้าย ซึ่ง ณ ตอนนี้ ผมยังมองว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่สุด แต่เป็นกรณีที่ผมกังวลที่สุด คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง (Deep recession) จากการที่เฟดต้องขึ้นดอกบี้ยไปสูงกว่าที่ตลาดคาดมาก เนื่องจากเงินเฟ้อในปีหน้าจะไม่ลงมามากตามที่เฟดคาดการณ์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญที่เชื่อกรณีนี้มาก คือ Lawrence Summers อดีตรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ

ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯที่ออกมาแข็งแกร่งมากเมื่อต้นเดือนนี้ แม้จะเป็นข่าวดีว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯในครึ่งแรกของปีไม่น่าจะเข้านิยามเศรษฐกิจถดถอย ตอกย้ำสมมติฐานของ Summers ว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐฯนั้นร้อนแรงเกินไป โดยเฉพาะอัตราการขยายตัวของค่าจ้างที่ทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง ซึ่ง Summers มองว่า เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆจนถึงระดับที่ทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯไปอยู่ที่ร้อยละ 6.9 (จากปัจจุบันร้อยละ 3.5) จึงจะสามารกดเงินเฟ้อที่มาจากค่าจ้างแรงงาน (Wage inflation) ให้ลงมาเท่าค่าเฉลี่ยในอดีตได้ (ตัวเลขจากบทความ A Labor Market View on the Risks of a U.S. Hard Landing โดย Alex Domash และ Lawrence Summers)


ที่มา : Federal Reserve Bank of Atlanta

ในกรณีหลังนี้ เศรษฐกิจไทยจะเจอกับปัจจัยลบสองเด้ง เด้งแรกจากการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ (ซึ่งถ้าสหรัฐฯขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ ธนาคารกลางจำนวนมากในโลกคงขึ้นต่อด้วย ส่วนหนึ่งตามเทรนด์ Reverse currency war) และเด้งที่สองจากการถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเผลอๆเศรษฐกิจโลกด้วย

ทำให้ที่หลายคน (รวมถึงผม) มองกันไว้ว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้า จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 คงลืมกันไปได้เลย ดีไม่ดี เศรษฐกิจไทยอาจถูกเศรษฐกิจสหรัฐฯฉุดตามไปด้วย ดังนั้น นอกจากจะภาวนาว่า กรณีเลวร้ายนี้จะไม่เกิดขึ้น คงต้องเตรียมแผนฉุกเฉินไว้รองรับกันด้วยครับ


ผู้เขียน :
ดร.ดอน นาครทรรพ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย