ในปาฐกถาวันที่ 18 พ.ย. ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธินาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เล่าถึง Growth Story แบบไทย ๆ เน้นต่อยอดด้านที่มีศักยภาพ ใช้เอกลักษณ์เป็นจุดแข็งและปรับให้สอดคล้องกับกระแสดิจิทัลและสิ่งแวดล้อมอย่างทันการณ์ แตกต่างจากเวียดนามที่ขับเคลื่อนด้วยประชากรร้อยล้านคนที่มีอายุเฉลี่ยสามสิบปี และไม่เหมือนเกาหลีใต้ที่โตด้วยนวัตกรรมและการส่งออกวัฒนธรรม ประเด็นนี้เป็นที่สนใจในวงกว้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสถานเอกอัครราชทูตอิตาลี ให้เกียรติผู้เขียนร่วมเสวนาในงาน Italian-Thai Business Forum วันที่ 9 ธ.ค. ดังนี้

Businessman holding creative light bulb with growth graph and banking icons. Financial innovation technology develop new products and services that enhance successful and profit in global business.

ก่อนอื่นขอทบทวนว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตมาจากการสะสมทุนผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยด้านแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ จนกระทั่งในทศวรรษล่าสุดที่เศรษฐกิจเผชิญความผันผวนซับซ้อน เริ่มด้วยมหาอุทกภัย ต่อด้วยความไม่แน่นอนทางการเมือง ปิดท้ายด้วยวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด เรื่องราวการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจึงคล้ายกับภาพยนตร์ตื่นเต้นเร้าใจที่มีแรงกระตุกสลับกับแรงกระตุ้นจากมาตรการอุดหนุนภาครัฐ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก และกระแสจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไหลเข้ามาสู่ประเทศไทย

การที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้กระจายความเสี่ยงเชิงกิจกรรม โดยพึ่งพาการท่องเที่ยวและภาคเกษตรรวมกันถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีงานทำทั้งหมด ทำให้เมื่อเศรษฐกิจต้องล็อกดาวน์และนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เข้ามา เศรษฐกิจไทยจึงได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าและต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวยาวนานกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การจะเขียนเรื่องราว Growth Story ของไทยขึ้นใหม่ จะต้องวางยุทธศาสตร์ หรือ Growth Strategy ให้เกิดความเข้มแข็ง ยืดหยุ่น และยั่งยืน

พัฒนาการสำคัญในช่วงนี้ ซึ่งเป็นฐานหลักในโครงเรื่องการเติบโตของไทยต่อไป คือ การก้าวกระโดดของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มขึ้นกว่าก่อนวิกฤตเกือบหนึ่งเท่า และการตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจสีเขียวนำโดยในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ในประเด็นแรกนั้น รายงานของ Google Temasek และบริษัท Bain สะท้อนมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยที่เติบโตจาก 16 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 62 มาเป็น 30 พันล้านเหรียญในปีนี้ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ คือ ในปี 62 เกือบครึ่งของยอดใช้จ่ายมาจากยอดจองที่พักออนไลน์ ขณะที่ยอดใช้จ่ายในปีนี้มาจาก e-Commerce เป็นสำคัญสอดรับกับกระแสการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในวงกว้างตามการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการคนละครึ่ง การปรับตัวใช้ช่องทางดิจิทัลช่วยให้ SMEs และแรงงานสามารถลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้

อีกกระแสหนี่งที่ค่อย ๆ ทวีความสำคัญขึ้นทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และระดับประเทศ คือ กระแสธุรกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน ซึ่งในปีนี้มีธุรกิจไทย 25 รายได้รับเลือกให้อยู่ใน DJSI – Dow Jones Sustainability Indices ครอบคลุมทั้งธุรกิจพลังงาน ขนส่ง อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่มีห่วงโซ่ธุรกิจเชื่อมโยงกับผู้ผลิตและผู้ให้บริการรายย่อยทั้งในภาคเกษตรและการท่องเที่ยวจำนวนมาก หากธุรกิจขนาดใหญ่สามารถถ่ายทอดการรับปฏิบัติตามมาตรฐานสีเขียวในระดับโลกไปสู่คู่ค้า supplier ต่าง ๆ โดยเฉพาะ SMEs และเกษตรกร จะช่วยให้ธุรกิจไทยไม่ตกกระแสโลก เป็นที่ยอมรับและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น ภาครัฐเองควรสนับสนุนการค้า การลงทุน และความร่วมมือระหว่างประเทศให้เอื้อภาคเอกชนได้ใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้เต็มที่

Growth Story ใหม่ย่อมต้องอาศัย Growth Strategy ใหม่ด้วยเช่นกัน อย่าปล่อยให้โอกาสนี้เสียเปล่า!



ผู้เขียน :
ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2564


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย