​จากชีวิตวิถีใหม่ New Normal สู่ชีวิตวิถีถัดไป Next Normal

ดร.นครินทร์ อมเรศฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ


แม้การฉลองปีใหม่จะกร่อยลงไปมากหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด กลับมาพุ่งขึ้น ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักเมื่อเทียบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ที่ตัวเลขการติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเห็นการกลับมาประกาศล็อกดาวน์ในหลายประเทศยุโรป เช่น อังกฤษและเยอรมนี อย่างไรก็ดี แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จากการเริ่มกระจายฉีดวัคซีนในหลายประเทศ รวมถึงแผนการจัดเตรียมวัคซีนที่มีกำหนดระยะเวลาอย่างชัดเจนของไทยเป็นสัญญาณบวกว่าการแพร่ระบาดกำลังจะยุติลงหากประชาคมโลกกัดฟันยืนหยัดไปจนถึงวันนั้นได้ จึงขออนุญาตแลกเปลี่ยนมุมมองถึงการก้าวผ่านจาก New Normal ชีวิตวิถีใหม่อยู่ร่วมกับโควิด ไปสู่ Next Normal ชีวิตวิถีถัดไปหลังโควิด ในโค้งสุดท้าย

ประการแรก ภาครัฐต้องจัดสรรเครื่องมือที่ยังมีอยู่เพียงพอสำหรับดูแลสถานการณ์ปัจจุบันและสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะถัดไป หากเราลองมองย้อนไปก่อนล็อกดาวน์เมื่อต้นปีก่อน กล่องเครื่องมือในฝัน หรือ wish list ของผู้ออกแบบนโยบาย คือ ระบบติดตามด้านสาธารณสุข โรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเพียงพอ เม็ดเงินงบประมาณสำหรับเยียวยา และแพลตฟอร์มเพื่อเป็นช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งในวันนี้เรามีเครื่องมือดังกล่าวพรักพร้อม เม็ดเงินงบประมาณที่ยังไม่ได้อนุมัติ สำหรับแผนงานทางการแพทย์เหลือ 70% ของวงเงิน 45,000 ล้านบาท แผนงานเยียวยาเหลือเกือบ 40% ของวงเงิน 555,000 ล้านบาท และแผนงานฟื้นฟูเหลือ 65% ของวงเงิน 400,000 ล้านบาท รวมกับงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2564 ที่รองรับได้เกือบ 140,000 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Soft Loan ของแบงก์ชาติ ที่ยังเหลือมากกว่า 75% ของ 500,000 ล้านบาท นอกจากนี้ มีแพลตฟอร์มติดตามผู้ป่วย มีความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามอย่างทันท่วงที มีแพลตฟอร์มกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลากหลายและติดตลาด อย่างไรก็ดี เม็ดเงินส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงเป็นเงินกู้ ดังนั้น การใช้งานจึงควรคำนึงถึงการสร้างประโยชน์ในระยะยาวเพื่อให้สามารถสร้างรายได้ชดเชยภาระหนี้ในอนาคตด้วย โดยเฉพาะการยกระดับปรับทักษะแรงงานให้เพิ่มพูนรายได้ ยกระดับศักยภาพของธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ประการต่อมา ภาคเอกชนเรียนรู้ที่จะอยู่กับชีวิตวิถีใหม่ New Normal และกำลังพร้อมจะก้าวไปสู่ชีวิตวิถีถัดไป Next Normal แล้ว รายงานล่าสุดโดย Global Managing Partner หรือ ผู้บริหารสูงสุดของ McKinsey ได้หยิบยกตัวอย่างความสำเร็จในการปรับตัวของภาคธุรกิจทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา อาทิ อัตราการใช้ e-Commerce ของร้านค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่เคยคาดว่าต้องใช้เวลาอีกห้าปีจึงจะแตะระดับ 24% แต่กลับพุ่งสูงถึง 33% ได้สำเร็จตั้งแต่กลางปีก่อน สำหรับประเทศยุโรปที่การใช้งานดิจิทัล หรือ digital adoption ในภาพรวมสูงอยู่แล้วถึง 81% ก่อนโควิด ทะยานขึ้นไปถึง 95% ขณะที่ห่วงโซ่การผลิตได้ก้าวเข้าไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเต็มที่ ทั้งการวิเคราะห์ใช้ข้อมูลประกอบการดำเนินธุรกิจ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร การใช้หุ่นยนต์ขั้นสูง รวมถึงการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ ซึ่งล้วนแต่ได้รับการกระตุ้นจากการดำเนินการภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิดทั้งสิ้น พัฒนาการเหล่านี้ช่วยลดต้นทุนการผลิตในประเทศพัฒนาแล้ว และชดเชยได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของส่วนต่างต้นทุนแรงงานระหว่างการเลือกผลิตในสหรัฐฯและจีน จึงช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่สามารถบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตของตนที่ตั้งอยู่ในแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประการสุดท้าย กลไกการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชนมีความสำเร็จเป็นรูปธรรม และหากดำรงอยู่ได้อย่างถาวร จะเป็นหัวจักรสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างด้านอุปทานควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายกระตุ้นด้านอุปสงค์ระยะสั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ตลอดจนความยั่งยืนและความสามารถในการรองรับปัจจัยที่มากระทบ ตามที่อธิบายไว้ในบทความในกรอบ ก้าวสู่เป้าหมายของเศรษฐกิจไทยด้วยการเร่งปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ในรายงานนโยบายการเงิน ธ.ค. 2563

ขออวยพรปีใหม่ให้พวกเราก้าวข้ามโค้งสุดท้ายจาก New Normal ไปสู่ Next Normal ด้วยกันได้สำเร็จ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>