​“การชำระเงิน” เรื่องไม่เล็กที่ธุรกิจมักมองข้าม (ตอนที่ 1)

​นางสาวสมิตา เอื้อฤดีพร
ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน

เมื่อพูดถึงการทำธุรกิจ หลายท่านอาจคิดว่าสิ่งสำคัญของธุรกิจที่ดีคือ “ไอเดีย” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไอเดียการทำธุรกิจที่ดีไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันความสำเร็จของธุรกิจเสมอไป หากไร้ซึ่งการปฏิบัติจริง (execution) ที่มีประสิทธิภาพ กระบวนการต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อการสร้างผลกำไรและความอยู่รอดของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การขาย การบริการ และการส่งเสริมการตลาด แต่หนึ่งในกระบวนการทางธุรกิจที่มักถูกมองข้ามคือ การชำระเงิน

สาเหตุหนึ่งที่ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมักมองข้ามเรื่องกระบวนการการชำระเงิน และเลือกรับชำระเงินด้วยเงินสดที่เป็นวิธีการแบบดั้งเดิม เพราะมองไม่เห็น “ต้นทุนแฝง” ที่เกิดจากการรับชำระด้วยเงินสด โดยทั่วไปคนมักมองว่าการใช้เงินสดเป็นวิธีการรับชาระเงินที่ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม แต่คำกล่าวที่ว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” ยังเป็นจริงเสมอ การใช้เงินสดก็เช่นกัน มีต้นทุนที่มองเห็นไม่ชัดแอบแฝงอยู่มากมาย เช่น เวลาที่เสียไปในการตรวจนับเงินสด การเตรียมเงินทอน รวมถึงการกระทบยอดรายการชำระเงิน เสียโอกาสในการขายเมื่อลูกค้ามีเงินสดไม่เพียงพอ ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรม การปลอมแปลงธนบัตร หรือแม้กระทั่งการทุจริตของพนักงาน

ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีการศึกษาเกี่ยวกับต้นทุนการใช้เงินสด และประโยชน์ที่จะได้รับจากการเปลี่ยนไปใช้การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) (ที่มา: Cashless Cities: Realizing the Benefits of Digital Payments, VISA and Roubini ThoughtLab) ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนที่ธุรกิจรับเงินสดและเช็คสูงกว่าการรับชำระเงินด้วย e-Payment ถึง 40% ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า การใช้ e-Payment ช่วยเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจได้ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วธุรกิจสามารถเพิ่มยอดขายได้ถึง 17% สาเหตุที่การรับชำระด้วย e-Payment ส่งผลดีต่อยอดขายของธุรกิจนั้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่นิยมพกเงินสดจำนวนมากเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย ทำให้อาจมีเงินสดในมือไม่เพียงพอที่จะซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการรับชำระด้วย e-Payment ยังทำให้ธุรกิจสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังตลาด e-Commerce ได้ด้วย ไม่จำกัดอยู่แค่ลูกค้าหน้าร้าน จึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการขายนั่นเอง นอกจากนี้แล้ว ธุรกิจบางธุรกิจยังสามารถใช้ประโยชน์จากการรับชำระด้วย e-Payment ได้มากกว่านั้น โดยการนำข้อมูลการรับชำระเงินของลูกค้ามาวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อที่จะพัฒนากลยุทธ์การส่งเสริมการขายให้ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่มที่มีพฤติกรรมการซื้อแตกต่างกัน หรือนำมาพัฒนากลยุทธ์สร้างความภักดีต่อแบรนด์ (Loyalty program)

จากที่กล่าวมา จะเห็นว่า e-Payment มีประโยชน์หลายอย่างต่อภาคธุรกิจ นโยบายของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาจึงพยายามที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงภาคธุรกิจหันมาใช้ e-Payment เพื่อให้ธุรกิจดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป

เมื่อปี 2559 ธปท. ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ในการผลักดันการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานกลางของระบบการชำระเงินแบบใหม่ที่เรียกว่า “พร้อมเพย์” ซึ่งได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดเนื่องจากความสะดวกรวดเร็วในการโอนเงิน โดยผู้ใช้บริการพร้อมเพย์สามารถใช้หมายเลขต่าง ๆ เป็นตัวแทน (proxy) ของเลขที่บัญชีธนาคาร เช่น หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์มือถือ หมายเลขทะเบียนนิติบุคคล ทำให้ง่ายต่อการจดจำ ส่งผลให้ยอดลงทะเบียนผู้ใช้บริการและการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดให้บริการ โดยยอดลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์ของประชาชนมีทั้งสิ้น 41.4 ล้านหมายเลข (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2561) มีปริมาณธุรกรรมสะสมทั้งสิ้น 218.1 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 9.6 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ 3 พฤษภาคม 2561)

นอกจากระบบพร้อมเพย์จะตอบโจทย์ภาคประชาชนแล้ว ภาคธุรกิจเองก็ได้รับประโยชน์จากการใช้งานพร้อมเพย์ เช่น ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงร้านขายของออนไลน์ขนาดเล็ก สามารถรับโอนเงินจากลูกค้าได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องบอกเลขที่บัญชี ส่งผลให้การทำธุรกิจคล่องตัวมากขึ้น อย่างไรก็ดี หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า โครงสร้างพื้นฐานของระบบพร้อมเพย์ได้ถูกออกแบบไว้แต่แรกให้สามารถต่อยอดการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ในช่วงปลายปี 2560 ธปท. จึงได้ผลักดันการเปิดให้บริการต่อยอดอื่น ๆ บนโครงสร้างพื้นฐานของระบบพร้อมเพย์ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจได้มากยิ่งขึ้นด้วย

ในฉบับต่อไป เราจะมาแนะนาบริการต่อยอดบนระบบพร้อมเพย์ที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจให้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย