​วินัยทางการเงินภาคครัวเรือน: กันไว้ดีกว่าแก้

นายพสิษฐ์ โชติวัฒนะกุล

จากที่ได้กล่าวไว้ในครั้งที่แล้วว่า ในช่วงปี 2554-2555 หนี้ภาคครัวเรือนขยายตัวในระดับที่สูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยกู้โดยธนาคารพาณิชย์ รองลงมาคือสถาบันการเงินเฉพาะกิจหากเรามาดูเฉพาะข้อมูลสินเชื่ออุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์และบริษัทในเครือจะเห็นว่า การขยายตัวของสินเชื่อดังกล่าวมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น (สินเชื่อเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อบัตรเครดิต) ตามลำดับ

แม้ว่าการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนส่วนหนึ่งเป็นหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ซึ่งบางท่านอาจจะมองว่าเป็นการสะสมความมั่งคั่งให้แก่ครัวเรือนและเมื่อเกิดวิกฤตสามารถนำมาขายและนำเงินมาชำระหนี้ได้แต่จากประสบการณ์ของต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ในช่วงปี 2545 – 2546 หนี้ครัวเรือนเร่งขึ้นมาก ทำให้ครัวเรือนมีสภาพคล่องทางการเงินลดลงและสินทรัพย์ถาวรข้างต้น (บ้านและรถยนต์) ไม่ได้ขายได้เร็วเพราะมีสภาพคล่องต่ำ ประกอบกับราคาก็ปรับลดลงมากจึงส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจชะลอตัวลงในที่สุด ดังนั้น กรณีของไทย แม้ว่าคุณภาพสินเชื่อในปัจจุบันจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือนต่อสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมด (NPL and delinquency ratio) ที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำประมาณร้อยละ 5 อย่างไรก็ดี สัดส่วนดังกล่าวไม่ได้สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของภาคครัวเรือน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากหนี้ภาคครัวเรือนยังคงเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง

ในครั้งนี้ จึงขอกล่าวถึงการสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้แก่ภาคครัวเรือน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันและพร้อมรับกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยครัวเรือนควรมีการประเมินฐานะทางการเงินและนำมาเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะมีการก่อหนี้ในอนาคต


ปัจจัยแรกที่ควรพิจารณาคือ ความสมดุลระหว่างรายได้ – รายจ่ายและการออม จากข้อมูลโครงการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2554 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ากลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนและจากแบบสำรวจเพิ่มเติมของธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2553 พบว่า สัดส่วนครัวเรือนไทยถึงร้อยละ 32 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดไม่มีเงินออม ซึ่งข้อมูลจากบัญชีรายได้ประชาชาติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่พบว่าสัดส่วนการออมต่อรายได้พึงใช้จ่ายของครัวเรือน (Saving rate) ในภาพรวมทั้งประเทศปี 2554 อยู่ที่เพียงร้อยละ 9

ปัจจัยที่สองคือ สภาพคล่องของครัวเรือน โดยพิจารณาสัดส่วนสินทรัพย์ทางการเงินต่อหนี้สิน ซึ่งข้อมูลจากการรายงานของสถาบันการเงินต่างๆ พบว่าในภาพรวมสภาพคล่องของภาคครัวเรือนปรับลดลง โดยสัดส่วนสินทรัพย์ทางการเงินต่อหนี้สินของภาคครัวเรือนในปี 2555 อยู่ที่ระดับ 2.1 เท่า ปรับลดลงจากระดับ2.9 และ 2.4 เท่าในปี 2546 และ 2553 ตามลำดับ นอกจากนี้ ควรมีการประเมินสภาพคล่องของแต่ละครัวเรือนประกอบกับการมองภาพรวมทั้งประเทศ เนื่องจากการที่ประเทศมีดัชนีนี้สูงไม่ได้รับประกันว่าจะไม่เกิดวิกฤต ดังเช่น กรณีประเทศสหรัฐอเมริกาที่ภาคครัวเรือนมีสินทรัพย์ทางการเงินสูงกว่าหนี้สินถึงประมาณ 3 – 4 เท่า แต่ก็ยังเผชิญกับวิกฤต
ปัจจัยที่สาม คือ ภาระในการชำระหนี้ของครัวเรือน โดยพิจารณาสัดส่วนรายจ่ายชำระหนี้ทั้งหมดต่อรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ซึ่งบ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต ข้อมูลจากโครงการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2554 พบว่า กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่สุด มีภาระการชำระหนี้สูงถึงร้อยละ 60 ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงที่สุด มีภาระชำระหนี้เพียงร้อยละ 24 ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเท่านั้น และจากการศึกษาของประเทศในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่า ภาระชำระหนี้ที่ระดับร้อยละ 40 ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน เป็นระดับที่เสี่ยงต่อความสามารถในการชำระหนี้และการบริโภคในอนาคตของครัวเรือน

โดยสรุป แม้ว่าสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือนต่อสินเชื่ออุปโภคบริโภคจะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่หากพิจารณาถึงฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนในภาพรวมพบว่า ระดับการออมของครัวเรือนไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก ประกอบกับการเร่งตัวของหนี้ทำให้สภาพคล่องของภาคครัวเรือนปรับลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่มีภาระในการชำระหนี้ในระดับสูง ดังนั้น การก่อหนี้ของครัวเรือนในอนาคตควรคำนึงถึงฐานะทางการเงินโดยเฉพาะภาระในการชำระหนี้ที่จะเกิดขึ้นอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อป้องกันปัญหาการก่อหนี้เกินตัว นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางรายได้ควบคู่กับการกระตุ้นให้เกิดวินัยทางการเงินที่ดีแก่ภาคครัวเรือน เพื่อเป็นการสร้างเกราะคุ้มกันที่แข็งแกร่งให้กับครัวเรือนไทย รวมทั้ง ช่วยสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวม ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจดังเช่นที่ได้เห็นในหลายประเทศ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย