คลื่นยักษ์กระทบพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทย
สำหรับไทยและอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก การใช้เงินสดยังเป็นสิ่งที่ผู้คนคุ้นชิน การจะเปลี่ยนพฤติกรรมที่ฝังรากลึกมานานให้เป็นสังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง (less cash society) ต้องใช้เวลาอย่างมาก ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ และความพร้อมของปัจจัยหลายด้าน แต่วิกฤติโควิด 19 เป็นเหมือนสึนามิของโลกการชำระเงินที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนนับล้านเกิดขึ้นได้ภายในชั่วข้ามเดือน เพราะสถานการณ์ในช่วงนี้ทำให้ประชาชนต้องเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาทำธุรกรรมและชำระเงินออนไลน์กันมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มเรียนรู้การซื้อของออนไลน์เป็นครั้งแรก และเริ่มติดใจกับความสะดวก ง่าย ประหยัดและปลอดภัย
ในส่วนของคนทำธุรกิจการค้าก็เช่นเดียวกัน ธุรกิจหลายประเภท เช่น ร้านอาหาร จำเป็นต้องปรับตัวเปลี่ยนกลยุทธ์เข้าสู่โลกออนไลน์เพื่อพยุงยอดขาย หารายรับในช่วงสถานการณ์โควิด 19 โดยธุรกิจออนไลน์ที่แม้จะมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ที่ผ่านมาอาจเข้าถึงเฉพาะกลุ่มลูกค้าบางกลุ่ม ซึ่งวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ขยายฐานไปยังกลุ่มผู้ใช้งานใหม่ ๆ ที่หลากหลายและกว้างขวางมากขึ้นด้วย
ข้อมูลการชำระเงินในเดือนมีนาคม 2563 แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เมื่อเทียบกับปีก่อนจำนวนการใช้ digital payment เพิ่มขึ้นกว่า 40% โดย internet/mobile banking เติบโตมากที่สุดถึงราว 70% และมีการสมัครบัญชีใหม่เพิ่มขึ้นถึง 3.2 ล้านบัญชีจากสิ้นปี 2562 สำหรับบริการพร้อมเพย์ ในปัจจุบันผู้ลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชนมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรไทยทั้งประเทศ ส่วนยอดการใช้พร้อมเพย์ต่อวันก็ทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง สูงถึง 15.3 ล้านรายการต่อวัน สะท้อนถึงการใช้งานเพื่อจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันมีมากขึ้น สวนทางกับการใช้เงินสดที่ลดลงซึ่งดูได้จากการถอนเงินสดที่หดตัวมากกว่าค่าเฉลี่ยในปีที่ผ่านมาถึง 10%
“การแพร่ระบาดของไวรัสร้าย สู่การแพร่หลายของ digital payment”
อนาคตของ digital payment
แม้ในที่สุดคลื่นโควิด 19 จะกระทบฝั่งแล้วหายไป แต่เรายังมีคลื่นลูกใหญ่อย่างน้อย 3 ลูกที่เป็นแรงหนุนให้มีการใช้ digital payment มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคลื่นลูกแรก คือ “นวัตกรรมและเทคโนโลยี (innovation)” ที่จะถูกนำมาผสมผสานประยุกต์ใช้กับบริการชำระเงินให้ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ให้ติดใจไม่หันกลับไปใช้เงินสด คลื่นลูกต่อมา คือ “ความรู้ความเข้าใจ (digital literacy)” ที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจและเชื่อมั่นที่จะปรับพฤติกรรมมาใช้ digital payment กันมากขึ้น กระจายครอบคลุมไปทั่วประเทศไม่เฉพาะแค่เพียงในเขตเมืองเท่านั้น และคลื่นท้ายสุด คือ “ความร่วมมือ (collaboration)” อย่างจริงจังมาโดยตลอดของทุกภาคส่วนทั้งแบงก์ชาติ ผู้ให้บริการ ภาครัฐและภาคธุรกิจในการพลิกโฉมการชำระเงินในไทย เช่น รัฐบาลร่วมมือในการเริ่มรับและจ่ายเงินสนับสนุนต่าง ๆ อย่างการให้เงินเยียวยาแก่ประชาชน ตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ผ่าน digital payment แทนการใช้เช็คหรือเงินสด
คลื่นทั้ง 3 ลูกนี้ รวมถึงคลื่นอื่น ๆ ก่อนหน้าและที่กำลังตามมาจะช่วยโหมให้เราไปถึงฝั่งที่มี digital payment เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงินของคนไทย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
>>