​บทบาทของสถาบันการเงินในวิกฤตโควิด-19

ดร.นันทวัลลิ์ ถิรธนาพงศ์ ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน



ท่ามกลางผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถาบันการเงินเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจการเงินให้มีเสถียรภาพ สามารถรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ได้ โดยวิกฤตโควิดครั้งนี้ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งครั้งก่อนใน 3 จุดสำคัญ คือ
(1) ระบบสถาบันการเงินของไทยมีความมั่นคง จากเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง [1] ซึ่งเป็นผลจากการสร้างกันชนที่เข้มแข็งหลังจากวิกฤตในอดีต จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้สถาบันการเงินสามารถเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ได้ ทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องหรือลดต้นทุนทางการเงินเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ผ่านการปรับโครงสร้างทางการเงิน การเลื่อนกำหนดชำระหนี้ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในสถานการณ์ที่ธุรกิจขาดรายได้หรือมีรายได้ลดลงตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนทางการเงินให้กับภาคธุรกิจและประชาชน เพื่อช่วยลูกหนี้ให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้หรือลูกหนี้กลายเป็น NPL ในวงกว้างที่อาจเกิดขึ้นกับสถาบันการเงิน และลดโอกาสที่ปัญหาสภาพคล่องของลูกหนี้จะนำไปสู่ปัญหาฐานะความมั่นคงของสถาบันการเงินในระยะต่อไป
(2) ระดับหนี้ของภาคธุรกิจและสถาบันการเงินไม่สูงเหมือนในอดีต บทเรียนจากวิกฤตทำให้ผู้ประกอบการระมัดระวังการก่อหนี้ ยกเว้นหนี้ของภาคครัวเรือนในปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนการเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกขึ้น อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแบงก์ชาติส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างวินัยทางการเงินของภาคครัวเรือน ผลักดันการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ตลอดจนผลักดันแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ให้หลุดพ้นจากกับดักหนี้เพื่อช่วยลดความเปราะบางของภาคครัวเรือน และ
(3) การออกมาตรการเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิดได้อย่างทันกาล ทั้งการเร่งอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการเร่งปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันก่อนที่ลูกหนี้จะกลายเป็นหนี้เสีย

ในมุมการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของประชาชนและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นมากจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในระดับสูงว่าวิกฤตโควิด-19 จะจบลงเมื่อไร และโลกหลังวิกฤตโควิด-19 จะยังมีผลต่อความสามารถในการหารายได้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนมากน้อยเพียงไร ในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ สถาบันการเงินจึงต้องเร่งดูแลลูกหนี้กลุ่มที่ยังมีศักยภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ขยายวงมาสู่คุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้กลุ่มนี้

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติตามแนวทางการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน สถาบันการเงินพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เมื่อเห็นว่าผู้ประกอบการ SMEs พร้อมที่จะลงทุนในกิจการของตัวเองเพิ่ม โดยสถาบันการเงินบางแห่งอาจเรียกหลักประกันเพิ่มหรือต้องการให้ลูกหนี้ลงเงินบางส่วนเพิ่มเพื่อลดความเสี่ยงต่อสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ในสภาวะที่ธุรกิจเผชิญผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรายได้ (income shock) ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติได้เมื่อไร ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปล่อยสินเชื่อใหม่อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษร้อยละ 2 ต่อปี ให้กับผู้ประกอบการ SMEs รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจะชดเชยความเสียหายบางส่วนให้แก่สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและการทำหน้าที่ในการสนับสนุนสินเชื่อของสถาบันการเงินเพื่อช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

นอกจากมาตรการทางการเงิน การช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับผู้ประกอบการ SMEs เช่น การช่วยหาตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ การเสริมช่องทางการขายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มกลางที่คิดอัตราค่าบริการในระดับต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้ยังมี profit margin (ส่วนต่างระหว่างราคาขายและต้นทุน) เหลือ รวมถึงการลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ทั้งการลดอัตราค่าเช่าสถานที่ประกอบการ การลดอัตราภาษี จะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และบรรเทาผลกระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งเป็นแนวทางการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถร่วมกันช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ควบคู่กับความช่วยเหลือผ่านมาตรการทางการเงินของสถาบันการเงิน

ภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนอาจเพิ่มสูงขึ้น อยู่ในระดับที่สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการได้ แต่สถาบันการเงินควรเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบที่อาจมีความรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาด การเสริมสร้างฐานะความมั่นคงของสถาบันการเงินให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นจะเพิ่มความสามารถของสถาบันการเงินในการรองรับผลกระทบจากความผันผวนและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิดที่อาจมีความรุนแรงมากกว่าที่คาดได้ โดยสถาบันการเงินสามารถกันสำรองเพิ่มเติมเพื่อรองรับการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทยอยหมดลง และรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับสูงด้วยการชะลอการจ่ายเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืนของสถาบันการเงิน เช่นเดียวกับการดำเนินการของสถาบันการเงินในหลาย ๆ ประเทศ ทั้ง ยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา รัสเซีย เม็กซิโก สเปน แอฟริกาใต้ และอินเดีย [2] เพื่อเตรียมรับมือกับแนวโน้มความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยหลังจากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ สถาบันการเงินสามารถกลับมาให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นได้เช่นเดิม

แม้จะคาดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 จะอยู่ในระดับที่สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการได้ แต่การเสริมสร้างระดับเงินกองทุนและเงินสำรองเพิ่มเติมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจมีความรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาดไว้ จะช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป


อ้างอิง
[1] ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุน 2.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ร้อยละ 18.7 ณ มีนาคม 2563 สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่แบงก์ชาติกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงรวมเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤต (conservation buffer) ที่ร้อยละ 12 สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบ และร้อยละ 11 สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็ก เงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับสูงที่ 7.2 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) ที่ร้อยละ 143.3 อีกทั้งยังมีสภาพคล่องส่วนเกินมากกว่าเกณฑ์ที่ต้องดำรงถึง 2.1 ล้านล้านบาท
[2] อ้างอิงจาก “Prudential Regulatory Measures in Response to COVID-19 (as of May 22, 2020)” https://www.iif.com/Portals/0/Files/Databases/COVID-19_regulatory_measures.pdf?ver=2020-05-22-140736-500

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>