การประชุมดาวอส หรือ World Economic Forum (WEF) ที่จัดขึ้นที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นเวทีที่รวมเหล่าบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการเมือง ธุรกิจ สังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมหารือในหลากหลายประเด็นที่เป็นวาระสำคัญระดับโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี รวมไปถึงการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่แนวทางร่วมกันในอนาคต ซึ่งเรื่อง “สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC)” เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาหารือในปีนี้ โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมขึ้นเวทีไปหารือในประเด็นดังกล่าว จึงอยากเชิญชวนทุกท่านมาทำความรู้จักสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางไปพร้อม ๆ กัน


ในอดีตการทำธุรกรรมทางการเงินส่วนใหญ่เป็นการใช้เงินที่จับต้องได้ (Physical Money) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แบบที่เราใช้เหรียญหรือธนบัตรไปซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ การแลกเปลี่ยนในรูปแบบนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน แต่ยังมีข้อเสียหากต้องแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีมูลค่าสูง ต้องใช้เงินสดจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการซื้อขาย และยังมีต้นทุนการชำระเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหตุนี้ จึงมีการขยับจากสังคมเงินสดสู่สังคมไร้เงินสด ด้วยการพัฒนารูปแบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Payment เช่น การโอนเงินหรือชำระเงินผ่าน Internet / Mobile Banking การใช้บัตรเครดิต/เดบิต และ การใช้ E-wallet เป็นต้น Digital Payment ให้ความสะดวกรวดเร็วในการจ่ายและรับเงิน ทำได้ง่าย ทุกที่ ทุกเวลา สามารถลดต้นทุนในการชำระเงิน และมีความปลอดภัย อย่างไรก็ดี ยังต้องอาศัยสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการเป็นตัวกลางในการควบคุมดูแลการทำธุรกรรมทางการเงินเหล่านี้

เนื่องจาก Digital Payment ยังต้องอาศัยตัวกลางอย่างสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการทางการเงิน หากเกิดปัญหากับระบบของตัวกลาง ธุรกรรมทางการเงินต้องหยุดชะงักลง อาจส่งผลเป็นวงกว้างต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงหากไม่ต้องมีตัวกลางแล้วนั้น ต้นทุนในการชำระเงินย่อมสามารถลดลงไปได้อีกด้วย ด้วยข้อจำกัดที่ยังคงมีอยู่ทำให้เกิดการพัฒนา สกุลเงินดิจิทัล หรือ Digital Currency เป็นการทำธุรกรรมผ่านระบบโดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางทางการเงิน ซึ่งมีข้อดีที่เป็นจุดเด่นเพิ่มเติมคือ ความสามารถในการเขียนเงื่อนไขลงบนเงิน (Programmable money) เช่น การกำหนดเงื่อนไขผู้รับเงิน โดยสามารถใส่เงื่อนไขสัญญาใน smart contract ที่ถูกเขียนและเก็บไว้ในระบบ และจะดำเนินการได้เองอัตโนมัติ จึงลดกระบวนการที่ซับซ้อนของการทำธุรกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้อีกด้วย ความสามารถดังกล่าวเอื้อให้เกิดการต่อยอดของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ที่จะตอบรับกับบริบทของโลกในอนาคตได้ด้วย

สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง CBDC แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ (1) Wholesale CBDC สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงินด้วยกัน โดยใช้เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology) เอื้อให้สมาชิกในเครือข่ายสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล และทำธุรกรรมระหว่างกันได้โดยตรง และ (2) Retail CBDC สำหรับการทำธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางได้ กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ตามกระแสความนิยมของเงินดิจิทัลในปัจจุบัน เงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางทั้งสองรูปได้รับความสนใจจากธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเล็งเห็นถึงโอกาสการสร้างช่องทางการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน อย่างไรก็ดี ประเทศส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษา ทดสอบ และพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการนำ CBDC ไปใช้ ซึ่งประเทศไทยของเรา ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีแผนที่จะนำร่องทดลองการใช้ Retail CBDC สำหรับประชาชนในวงจำกัด ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้

หากตัดคำว่าดิจิทัลออกแล้วคำว่า สกุลเงินดิจิทัล จะเหลือเพียงคำว่า สกุลเงิน นั่นเอง เราใช้เงินสดบนฐานความเชื่อว่าธนบัตรหรือเหรียญสามารถเป็นสื่อกลางในการชำระหนี้ได้ตามกฎหมายและรักษามูลค่าไม่ให้ผันผวนจนทำให้การซื้อขายสินค้าและบริการได้รับผลกระทบฉันใด เราก็คงจะอุ่นใจกับสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการอย่างเป็นสากลฉันนั้น สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งกำลังอยู่บนหนทางการพัฒนาให้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในวงกว้างจึงเป็นเส้นทางสายหลักที่เปิดกว้างให้มีการต่อยอดด้านนวัตกรรมดิจิทัลควบคู่ไปกับการดูแลความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ขณะที่ สินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยเอกชนซึ่งไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง (Blank Coin) อาจทำให้ผู้ถือครองต้องหวาดหวั่นกับมูลค่าที่ผันผวนขึ้นสูงและลงต่ำได้มากเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา



ผู้เขียน :
ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์
ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน

คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 11 มิถุนายน 2565


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย