Open Banking คืออะไร

Open Banking คือ การสร้างกลไกให้ผู้ใช้บริการทางการเงินในฐานะเจ้าของข้อมูลสามารถบริหารจัดการข้อมูลของตนที่มีอยู่ที่ธนาคารต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น สอดคล้องกับหลักการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ที่ให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer centric) โดยเจ้าของข้อมูลเป็นผู้ให้สิทธิอนุญาตให้ธนาคารส่งข้อมูลของตนเองให้แก่บุคคลอื่น เช่น ผู้ให้บริการทางการเงินรายอื่น บริษัท FinTech หรือหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทั้งในแง่การให้บริการหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตนเองในฐานะเจ้าของข้อมูลได้ดีขึ้น โดยต้องดำเนินการภายใต้หลักธรรมาภิบาลข้อมูลที่ดีและมีการรักษาความลับของข้อมูลอย่างเคร่งครัดด้วย


บทบาทของภาคธนาคาร

ภาคธนาคารมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ Open Banking ประสบความสำเร็จเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพบนบริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล เนื่องจากมีข้อมูลการใช้บริการทางการเงินต่าง ๆ ของลูกค้าที่กว้างขวางและครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อ และการชำระเงิน


นวัตกรรมทางการเงินในอนาคต

พวกเราหลาย ๆ คน อาจใช้บริการทางการเงิน เช่น เงินฝาก บัตรเครดิต และสินเชื่อกับหลายธนาคาร และเจอปัญหาคล้าย ๆ กัน คือ จัดการรายละเอียดข้อมูลทางการเงินที่มีกระจัดกระจายตามที่ต่าง ๆ ได้ไม่ครบถ้วน ซึ่ง Open Banking จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกให้ชีวิตของพวกเราง่ายขึ้น หากเราอนุญาตหรือยินยอมให้ธนาคารต่าง ๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลของเรากันได้ก็จะทำให้การพัฒนาบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ในลักษณะรวมศูนย์บนแอปพลิเคชันเดียวทำได้ง่ายขึ้น เราจะสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ทั้งเงินฝาก สินเชื่อ หรือการชำระเงินที่มีกับทุกธนาคารได้พร้อมกันในที่เดียว สามารถตรวจสอบรายการธุรกรรมที่ผิดปกติหรือแจ้งเตือนถึงการสมัครใช้บริการหักเงินจากบัญชีเงินฝากอัตโนมัติเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งเราอาจหลงลืมไปแล้ว

ในฝั่งสถาบันการเงินผู้ให้บริการ เมื่อมีข้อมูลการใช้บริการทางการเงินของลูกค้าที่ลงลึกในระดับรายธุรกรรมอย่างข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก เช่น ข้อมูลการจับจ่ายซื้อสินค้า การจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ก็จะประมาณการกระแสเงินสดที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ช่วยให้การประเมินพฤติกรรมของลูกค้าและความเสี่ยงด้านเครดิตได้ดียิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินและสินเชื่อที่เหมาะสมกับตนเองมากขึ้น อีกทั้งการรับส่งข้อมูลผ่านช่องทางดิจิทัลยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าจากเดิมที่ต้องรวบรวมเอกสารและนำส่งด้วยตนเอง กลายเป็นแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยตรงระหว่างระบบขององค์กรโดยไม่ผ่านคนกลางใดๆ จึงลดต้นทุนค่าเดินทางและค่าเสียเวลา ป้องกันการปลอมแปลงแก้ไข และยกระดับบริการทางการเงินไปสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งได้เริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565 ในชื่อ dStatement

นอกจากนี้ เมื่อนำข้อมูลข้างต้นมาประกอบกับข้อมูลรายละเอียดผลิตภัณฑ์ทางการเงินจากแต่ละธนาคารที่ทำให้เปรียบเทียบกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ก็สามารถสร้างบริการเพื่อบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล (Personal financial management) ยกตัวอย่าง ผู้ให้บริการในประเทศอังกฤษ หากลูกค้ามีหนี้บัตรเครดิตที่ค้างชำระ ซึ่งถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูง แอปพลิเคชันก็จะแนะนำให้ปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการรวมหนี้เหล่านี้และเปลี่ยนประเภทเป็นหนี้ที่มีกำหนดระยะเวลาชำระ (Term loan) ทำให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำลง โดยอาจยืดระยะเวลาการผ่อนชำระออกไปภายใต้ภาระต่อเดือนที่ผ่อนไหว รวมถึงสามารถแนะนำบริการรีไฟแนนซ์ไปยังเจ้าหนี้รายใหม่เพื่อให้ได้สินเชื่อที่เงื่อนไขดีขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น


เส้นทางยังคงเต็มไปด้วยความท้าทาย

ประการแรก ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสม ดังนั้น ภาครัฐจะต้องวางหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อให้มั่นใจว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีมาตรการที่ปลอดภัยรัดกุมและกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานผู้ให้และผู้รับข้อมูลที่ชัดเจน ประการต่อมา ประชาชนบางส่วนยังไม่มีข้อมูลทางการเงินแบบดั้งเดิม เช่น ประวัติการเดินบัญชี การชำระเงิน และการขอสินเชื่อ ดังนั้น การประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเปิดให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลใหม่ที่เรียกว่า ข้อมูลทางเลือก (Alternative data) เช่น ข้อมูลพฤติกรรมการใช้และชำระบริการโทรศัพท์และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ข้อมูลพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จะช่วยให้ลูกค้าใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนได้มากขึ้น และประการสุดท้าย การให้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลหลากหลายมิติระหว่างกันเพื่อเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


การปรับตัวของธนาคารและลูกค้า

เนื่องจากข้อมูลเป็นของลูกค้า ธนาคารจึงควรมีบริการให้ลูกค้ามีสิทธิในการจัดการข้อมูลของตนเองที่ธนาคารเก็บไว้ ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการและลดต้นทุนด้วยการพัฒนาระบบอัตโนมัติรองรับการนำข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าจากหลากหลายแหล่งข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในธุรกิจมากขึ้น ตลอดจนเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้าด้วยการใช้ข้อมูลลูกค้าอย่างมีหลักธรรมาภิบาลและรักษาความลับของข้อมูลอย่างเคร่งครัดตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ลูกค้าเองในฐานะเจ้าของข้อมูลก็ต้องปรับตัวให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจอันจะนำไปสู่ความมั่นใจต่อบริการต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสื่อกลางหลักแทนบริการแบบต่อหน้า และมั่นใจที่จะยินยอมเปิดเผยข้อมูลของตน เพื่อประโยชน์ในการเข้ารับบริการทางการเงินที่สะดวกขึ้นและตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้น


ผู้เขียน :
ภูมิใจ ตั้งสวัสดิรัตน์
ชัยศิริ ตุ้มทอง
ภัทราพร อุ่มตระกูล
ตัถย์ บัวทรัพย์
ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน

คอลัมน์ Young Economist นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
ฉบับวันที่ 11 มี.ค. 2565



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย




เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

โครงการ API Standard