​เงินเฟ้อ ดุลบัญชีเดินสะพัด และนโยบายการเงิน

สายนโยบายการเงิน


1. เงินเฟ้อเกิดจากอะไร

ในช่วงนี้เงินเฟ้อเป็นประเด็นที่สาธารณชนให้ความสนใจ ในทางเศรษฐศาสตร์เงินเฟ้อเกิดได้จาก 3 สาเหตุ 1) ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เช่น ค่าจ้างแรงงาน ค่าพลังงาน ค่าวัตถุดิบ อย่างไรก็ดี ถ้าราคาที่สูงขึ้นจากต้นทุนนี้ไม่มีความต้องการมาตอบสนอง ราคาสินค้าหรือเงินเฟ้อจะสูงขึ้นเพียงชั่วคราว 2) ความต้องการซื้อสินค้าและบริการ ถ้ามีความต้องการซื้อมากกว่าสินค้าที่ผลิตได้ ก็จะเป็นแรงผลักดันให้ราคาสินค้าสูงขึ้น และ 3) การคาดการณ์ ถ้ายิ่งมีการคาดว่าราคาสินค้าจะแพงขึ้น ก็ยิ่งทำให้มีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้น เกิดพฤติกรรมกักตุนสินค้า จนทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นจริง ผู้ใช้แรงงานก็จะเรียกร้องค่าแรงเพิ่ม วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตก็มีราคาสูงขึ้น ในที่สุดราคาสินค้าก็เพิ่มขึ้นจนเป็นวงจรไม่รู้จบ ทั้งนี้ เงินเฟ้ออาจเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือหลายสาเหตุร่วมกัน


2. เงินเฟ้อกับดุลบัญชีเดินสะพัด

มีบางแนวคิดกล่าวว่าสาหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบเล็กและเปิด จึงไม่มีเงินเฟ้อที่เกิดจากความต้องการสินค้าและบริการที่มากกว่าความสามารถในการผลิต เพราะตราบใดที่สามารถนำเข้าสินค้ามาทดแทนเพื่อสนองความต้องการส่วนเกินได้ จะไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่ไปปรากฏอยู่ที่การขาดดุลของบัญชีเดินสะพัดแทน และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอาจสรุปต่อได้อีกว่า ความต้องการในประเทศยังมีน้อยกว่าสินค้าที่ผลิตได้ จึงไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ

สำหรับในประเด็นแรก การนำเข้าสินค้าเพื่อมาทดแทนความต้องการส่วนเกิน อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อลงได้บ้าง แต่น้อยมาก เพราะ 1) มีสินค้าและบริการจำนวนมากที่ไม่สามารถนำเข้าได้ (non-tradable) หรือนำเข้าได้ก็มีต้นทุนที่สูงมากจนไม่คุ้มที่จะนำเข้า เช่น อิฐ หิน ดิน ทราย หรือ เราคงไม่บินไปตัดผมและทำเล็บที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเดียวกับที่คนสหรัฐฯ ก็ยอมตัดผมราคาหลายร้อยแทนที่จะบินมาตัดผมราคา 70 บาทที่ไทย ซึ่งถ้าไปดูองค์ประกอบของตระกร้าเงินเฟ้อจะพบว่าสัดส่วนสินค้าและบริการที่ไม่สามารถนำเข้าได้ (non-tradable) สูงถึงร้อยละ 65 ส่วนสินค้าและบริการนำเข้าจากต่างประเทศได้ (tradable) มีเพียงร้อยละ 35 2) แม้เป็นสินค้าที่สามารถนำเข้าได้ แต่ก็ต้องอาศัยบริการต่างๆ ในประเทศ เช่น นำเข้ารถยนต์ก็ต้องมีบริการ ขนส่ง ประกันภัย ตัวแทนขาย ซึ่งค่าบริการเหล่านี้ย่อมต้องสูงขึ้นตามเงินเฟ้อของประเทศ 3) ยังมีความแตกต่างเรื่องความชอบและวัฒนธรรมอีก เช่น เราคงไม่สามารถนาเข้าแฮมเบอร์เกอร์มากินแทนส้มตำหรือข้าวผัดกะเพราได้อย่างสมบูรณ์ ตัวอย่างเหล่านี้ จึงชี้ให้เห็นว่า ความคิดที่ว่าสามารถลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้โดยการนำเข้าสินค้ามาทดแทนนั้น อาจช่วยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

ส่วนประเด็นที่สอง “การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด” หรือในทางบัญชีหมายความว่า “การออมใน ประเทศสูงกว่าการลงทุน จึงตีความได้ว่าความต้องการในประเทศมีน้อย ไม่มีเงินเฟ้อ” หรืออีกนัยหนึ่งอาจตีความว่า “เราผลิตสินค้าแล้วคนในประเทศซื้อน้อย จึงนำสินค้าส่วนที่เหลือไปส่งออก และเลยตีความไปว่าเศรษฐกิจซบเซาและราคาสินค้าก็คงไม่เพิ่มขึ้น” ในความเป็นจริง สินค้าที่ไทยส่งออกไม่ใช่ของเหลือจากการกินใช้ในประเทศ แต่เป็นเพราะมีบางอุตสาหกรรมตั้งใจผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมผลิตหน่วยความจำและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปประกอบเป็น Smart phone หรือ Tablet ที่ประเทศจีน และทำให้เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศยังมีความต้องการสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ผลิตไม่ทันกับความต้องการ เช่น รถยนต์ อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น กรณีเช่นนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงเกินดุลได้ ทั้งๆ ที่ยังคงมีความต้องการสินค้าจากในประเทศซึ่งสร้างแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่

มีตัวอย่างในหลายประเทศที่แสดงว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลไม่ได้หมายความว่าความต้องการในประเทศน้อยจนทำให้ราคาสินค้าในประเทศไม่สูงขึ้นมาก เช่น สิงคโปร์ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เล็กและเปิดกว่าไทยมากเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณร้อยละ 20 ของ GDP แต่ก็กาลังต่อสู้กับแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงกว่าร้อยละ 5 ทำให้ธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดขึ้นในการประชุมครั้งล่าสุด เช่นเดียวกับประเทศจีนที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมาตลอด แต่ยังต้องดำเนินนโยบายลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจเพื่อชะลอเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ในทางตรงกันข้ามประเทศสหรัฐฯ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่เศรษฐกิจอ่อนแอ คนตกงานจำนวนมาก ไม่มีความต้องการส่วนเกิน และไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อ จนต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษเพื่อกระตุ้นความต้องการ หรือประเทศออสเตรเลียซึ่งขาดดุลบัญชี เดินสะพัดมาตลอดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็มีทั้งเวลาที่เศรษฐกิจร้อนแรงและเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย

ดังนั้น การพิจารณาดุลบัญชีเดินสะพัดเพียงอย่างเดียวแล้วสรุปว่าตราบใดที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวกจะไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจ จึงไม่น่าจะเป็นข้อสรุปที่ได้จากการพิจารณาอย่างถ่องแท้


3. เงินเฟ้อกับนโยบายการเงิน

เงินเฟ้อหรือราคาสินค้าที่สูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีกำลังซื้อมาสนับสนุนนั้น ไม่มีความจาเป็นต้องใช้นโยบายการเงิน ต่างจากเงินเฟ้อที่มีสาเหตุจากความต้องการสินค้าและบริการมีมากกว่าความสามารถในการผลิต ซึ่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้โดยการเพิ่มความสามารถในการผลิต อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นเราคงไม่สามารถขยายกาลังการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการได้ทันที ดังนั้น จึงมีแรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น จึงไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องลดความต้องการลงมาเพื่อให้เศรษฐกิจมีความสมดุล เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อ จะทำให้ผู้คนคาดคะเนว่าราคาสินค้าจะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ ค่าจ้างแรงงานและราคาวัตถุดิบจะสูงขึ้น ทำให้เกิดวัฏจักรเพิ่มขึ้นของราคาและค่าจ้าง ซึ่งกัดกร่อนความเชื่อมั่นและอำนาจซื้อของประชาชน จึงเป็นหน้าที่สำคัญของนโยบายการเงินที่จะต้องรักษาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจไม่ให้ขาดความสมดุล

สำหรับประเทศไทยแล้ว ปัจจัยที่มีความเชื่อมโยงกับความต้องการมากที่สุดคืออัตราดอกเบี้ย เพราะคนไทยพึ่งพาระบบสถาบันการเงินเป็นหลัก โดยการบริหารจัดการเงินของคนไทยจะเน้น การฝากเงินและกู้เงินกับธนาคารค่อนข้างมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากจะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายได้ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากที่ลดลงก็จะจูงใจให้ประชาชนกู้เงินและถอนเงินฝากไปจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้มีความต้องการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น และอาจเป็นแรงผลักดันให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ในทางตรงข้าม หากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากเพิ่มขึ้น ก็จะจูงใจให้ประชาชนไม่กู้ แต่จะเก็บออมเงิน ซึ่งจะลดความต้องการซื้อสินค้าและบริการ ทำให้ราคาสินค้าไม่เพิ่มสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าสินค้าส่วนใหญ่ของไทย เป็นสินค้าที่ไม่สามารถนำเข้ามาทดแทนได้ (non-tradable) การเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อจึงถูกกำหนดจากปัจจัยในประเทศ ซึ่งผูกโยงกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศเป็นสำคัญ อัตราดอกเบี้ยจึงมีผลต่อความต้องการบริโภคและการลงทุนของคนในประเทศซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่เงินเฟ้อได้ ดังจะเห็นได้จากประสบการณ์จากต่างประเทศ ที่มีลักษณะเศรษฐกิจเล็กและเปิดคล้ายกับเรา ธนาคารกลางส่วนใหญ่ก็เลือกใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการดูแลเงินเฟ้อและความสมดุลของระบบเศรษฐกิจเช่นกัน เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลี อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ฯลฯ


4. อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย

โดยทั่วไป การปรับขึ้น ปรับลง หรือคงอัตราดอกเบี้ยไม่มีสูตรตายตัว แต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง เช่น สหรัฐฯ ประเทศยังไม่พ้นวิกฤต มีการว่างงานถึงร้อยละ 8-9 ยังคงมีหนี้เสียและราคาบ้านยังลดลงต่อเนื่อง มีอุปทานที่อยู่อาศัยล้นตลาด ธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงให้คำมั่นสัญญาว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำใกล้ร้อยละ 0 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีบางแนวคิดมองว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันของไทยที่ร้อยละ 3.0 อยู่ในระดับสูงเกินไปและเสนอให้ไทยควรมีอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับสหรัฐฯ หากไทยจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงเข้าใกล้ร้อยละ 0 ธปท. คงต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอีกมหาศาล ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันของไทยที่มีการจ้างงานเต็มที่ อัตราการว่างงานต่ำ คนยังมีรายได้ดีและมีความต้องการที่ยังรอค้างอยู่ไม่สามารถผลิตได้ทัน อาทิ การส่งมอบรถยนต์ยังต้องรอข้ามปี ถ้าลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ จะยิ่งกระตุ้นให้มีความต้องการสูงขึ้น ในขณะที่ด้านการผลิตไม่สามารถตอบสนองได้ทัน ผลสุดท้ายการลดดอกเบี้ยจะก่อให้เกิดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะยึดอัตราดอกเบี้ยของไทยให้เท่ากับสหรัฐฯ ทั้งนี้ ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันมีความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและไม่เป็นปัญหาต่อภาวะเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ หากดูอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเล็กใหญ่หรือมีเศรษฐกิจที่เปิดมากหรือน้อย ประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้ยึดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนกับประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากตามสภาวะเฉพาะของเศรษฐกิจประเทศนั้นๆ เช่น เกาหลีใต้ ร้อยละ 3.25 อินเดีย ร้อยละ 8 อินโดนีเซีย ร้อยละ 5.75 เวียดนาม ร้อยละ 13 มาเลเซีย ร้อยละ 3 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 4 เป็นต้น และหากเทียบอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันกับประเทศอื่น ก็จะพบว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคที่สำคัญ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (หักผลของเงินเฟ้อแล้ว) ในปัจจุบันก็ยังติดลบอยู่ประเทศเดียวในภูมิภาค

อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ต่างจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้มีความกังวลว่าจะเป็นสาเหตุดึงดูดเงินทุนให้ไหลเข้าเศรษฐกิจและจะต้องเป็นภาระของ ธปท. ในการจัดการเงินทุนที่เข้ามามากนี้ ในความเป็นจริงแล้ว อัตราดอกเบี้ยของไทยไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ดึงดูดเงินทุนไหลเข้า ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เงินทุนไหลเข้าเกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของธนาคารกลางในประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งทำให้เกิดสภาพคล่องส่วนเกินและไหลเข้ามาแสวงหากาไรในภูมิภาคเอเชียซึ่งมีแนวโน้มการเจริญเติบโตที่ดีกว่า หลักฐานสำคัญคือเงินทุนไม่ได้ไหลเข้าเฉพาะประเทศไทย แต่ไหลเข้าทุกประเทศในภูมิภาค

การจัดการกับเงินทุนไหลเข้านี้ ธนาคารกลางของทุกประเทศในภูมิภาคจัดการในลักษณะคล้ายๆ กันด้วยการแทรกแซงค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเร็วหรือผันผวนเกินไป ซึ่งสะท้อนในระดับเงินสารองของธนาคารกลางทุกประเทศที่เพิ่มขึ้น และแทบทุกประเทศต้องประสบปัญหาการขาดทุนจากการตีราคา อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมามีผลต่องบดุลและกาไรขาดทุนของ ธปท. ซึ่ง ธปท. ตระหนักดีถึงต้นทุนของการดาเนินนโยบายดังกล่าว แต่มองว่าคุ้มกับประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ เพื่อบรรเทาไม่ให้ส่งผลกระทบภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคการส่งออกจะได้มีเวลาในการปรับตัวได้ และไม่กระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวมจนเกินไป

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย