​นางสาวธนันธร มหาพรประจักษ์
ฝ่ายนโยบายการเงิน


สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทยที่เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นช้าลง และเริ่มมีการคลาย lock down เพื่อให้คนสามารถกลับไปดำเนินชีวิตเฉกเช่นที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี วิถีชีวิตของเราคงไม่เหมือนเดิมและจะต้องก้าวเข้าสู่ new normal จากการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อลดการสัมผัส (contactless) มากขึ้น หนึ่งใน new normal ที่หลาย ๆ คนพูดถึงคือ สังคมไร้เงินสดรวมถึงการเข้ามาของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีโอกาสเกิดได้เร็วขึ้น บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงอยากชวนท่านผู้อ่านมองไปข้างหน้าและคิดถึงความเป็นไปได้ของโลกการเงินในระยะข้างหน้าค่ะ
ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการหยิบจับและสัมผัสธนบัตรและเหรียญ เนื่องจากธนบัตรและเหรียญสามารถเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้โดยงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าไวรัสโควิด-19 จะอยู่บนผิวกระดาษได้นานถึง 5-9 วัน ส่งผลให้การใช้เงินสดลดลง นอกจากนี้ การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่หันมาใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นจากกระแสการทำงานที่บ้านและการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการขอรับความช่วยเหลือต่าง ๆ ของภาครัฐที่ต้องทำผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลเร่งให้การเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอาจเกิดได้เร็วขึ้น

"รายงานของธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ ระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคม โดยคนจะหันมาใช้จ่ายด้วยเงินสดลดลง และเปลี่ยนมาใช้วิธีการชำระเงินผ่านช่องทางอื่น ๆ มากขึ้น"

รายงานของธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (Bank of International Settlement; BIS) ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคม โดยคนจะหันมาใช้จ่ายด้วยเงินสดลดลง และเปลี่ยนมาใช้วิธีการชำระเงินผ่านช่องทางอื่น ๆ มากขึ้น ทั้งผ่านทางโทรศัพท์มือถือ บัตรเดบิต บัตรเครดิต รวมถึงช่องทางชำระเงินทางออนไลน์ ในรายงานยังประเมินว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ชี้ให้เห็นความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่ดำเนินการได้อย่างยืดหยุ่น สามารถเข้าถึงได้ง่าย และรวดเร็วของธนาคารกลางมีความจำเป็นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะต้องได้รับการออกแบบให้พร้อมรับมือกับความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ อาทิ การแพร่กระจายของโรคระบาดต่าง ๆ และการโจมตีทางไซเบอร์

นอกจากนี้ BIS มองว่าธนาคารกลางบางส่วนจะหันมาออกสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองเพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้งาน (Retail Central Bank Digital Currency; Retail CBDCs) มากขึ้น สอดคล้องกับความเห็นจากธนาคารดอยซ์แบงก์ที่มองว่าการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ช่วยเร่งการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDCs) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน เช่น สกุลเงินดิจิทัลหยวนของธนาคารกลางจีนที่เร็ว ๆ นี้จะเริ่มทดลองใช้ใน 4 เมืองหลักของจีน

"สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่มีการคิดค้นก่อนหน้าและดำเนินการผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) อาจจะเป็นที่นิยมมากขึ้น"

นอกจากสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแล้ว สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ที่มีการคิดค้นก่อนหน้าและดำเนินการผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) อาจจะเป็นที่นิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากกระแสของการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงข้อดีของคริปโทเคอร์เรนซีที่ใช้งานได้ง่าย รวดเร็ว โดยไม่ต้องดำเนินการผ่านตัวกลาง และคุณสมบัติสำคัญเรื่องความโปร่งใสของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ข้อมูลธุรกรรมจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ทำให้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สภากาชาดของเนเธอร์แลนด์และอิตาลีได้ยอมรับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นหนึ่งในช่องทางการบริจาคผ่านทางเว็บไซต์เพื่อนำไปจัดซื้อเวชภัณฑ์ รวมถึงรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมองว่า สินทรัพย์ดิจิทัลอื่นอย่างดิจิทัลโทเคน (Digital token) ที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อใช้กำหนดสิทธิของบุคคลที่มีต่อสินทรัพย์ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน หรือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น หุ้น สิทธิบัตร อาจเป็นช่องทางในการระดุมทุนแบบใหม่ในระบบเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

ทั้งหมดนี้ อาจจะเป็น new normal ของโลกการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ทุกคนคาดคิด ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราจึงต้องเตรียมพร้อมปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ค่ะ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>