ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต
ในระยะหลังที่ค่าเงินบาทได้ปรับแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านในประเทศไทยได้ให้ความเห็นว่าประเทศไทยน่าจะกลับมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ โดยให้เหตุผลว่า (1) โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาการผลิตและส่งออกภาคเกษตรรวมถึงสินค้าที่ใช้แรงงานในการผลิตเป็นหลัก ส่วนสินค้าส่งออกที่ผลิตโดยใช้สัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าสูง (High import content) หรือที่เรียกว่าซื้อมาขายไปนั้นมีน้อย ดังนั้น เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าและค่าเงินบาทแข็งค่า รายรับจากการส่งออกเมื่อแปลงจากดอลลาร์สหรัฐมาเป็นบาทแล้วจะได้น้อยลง (2) ราคาสินค้าเกษตรในประเทศจะตกต่ำ ประเทศไทยจะเสียหายมาก เสียหายมากกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น มาเลเซียที่ส่งออกน้ำมัน ซึ่งราคามักจะขึ้นเมื่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หักลบกลบผลดีผลเสียกันไป กระบวนการคิดดังกล่าวนับว่าถูกต้องตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และมีตรรกะ (Logic) สามารถเชื่อมเหตุและผลเข้ากันเป็นทอด ๆ ได้อย่างดีอย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงบางประการที่นำมาเป็นพื้นฐานแนวคิดและประกอบตรรกะข้างต้นอาจยังไม่สมบูรณ์หรือยังมิได้ปรับให้สะท้อนภาพล่าสุดนักโดยเฉพาะภาพของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
สำหรับประเด็นแรก เมื่อ 40 ปีก่อนประเทศไทยเคยพึ่งการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก แต่ปัจจุบันการผลิตในภาคเกษตรคิดเป็นเพียงร้อยละ 11 ของ GDP ของไทย โดยส่วนที่เหลือเป็นการผลิตนอกภาคเกษตร โดยเฉพาะการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 35 ของ GDP ของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การส่งออกของไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 64 ของการส่งออกรวม และใช้วัตถุดิบนอกประเทศ ซึ่งต้องนำเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนไม่น้อย เช่นหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของยอดส่งออกรวมนั้น ใช้วัตถุดิบที่ต้องนำเข้า(Import content) สูงถึงร้อยละ 70 ใกล้เคียงกับของหมวดผ้าผืนและเส้นด้ายหมวดยานยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 11 ของยอดส่งออกรวมนั้น ก็มี Import content ประมาณร้อยละ 32 ส่วนหมวดเครื่องหนังและรองเท้า ที่เราเข้าใจว่าใช้แรงงานสูงในการผลิต ก็ยังมีImport content ประมาณร้อยละ 39 หมวดที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักมีเพียงอาหารทะเลแช่แข็ง และผัก ผลไม้แปรรูป ซึ่งมี Import content ประมาณร้อยละ 5-6
สำหรับประเด็นที่สอง จริงอยู่เกษตรกรอาจมีรายรับในรูปบาทลดลงเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่า หากราคาสินค้าเกษตรในรูปดอลลาร์สหรัฐไม่เปลี่ยนแปลงแต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกพบว่ามิได้เป็นเช่นนั้น หลายท่านอาจจะเคยมองว่าสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา และเชื้อเพลิงเช่น น้ำมันดิบ และถ่านหินนั้น เป็นสินค้าคนละกลุ่มคนละพวก แต่ในสายตานักลงทุนข้ามชาติ และในโลกยุคปัจจุบันล้วนมองสินค้าทั้งหมดนี้รวมกันว่าเป็น"กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์" ซึ่งราคาทั้งกลุ่มนั้นมักจะผกผันกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยหากย้อนกลับไปดูสถิติการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกจะพบว่าในยามที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ราคาข้าวยางพารา ก็มักจะปรับขึ้นไปพร้อมกับน้ำมันดิบถ่านหิน รวมถึงโลหะ หรือเรียกว่าการปรับขึ้นยกกระดานนั่นเอง(รูปประกอบ) ดังนั้น การคาดเดาว่าราคาสินค้าเกษตรจะตกต่ำในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า คงไม่ถูกต้องนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่มีภัยทางธรรมชาติมาเยี่ยมเยือนบ่อยครั้งในหลายรูปแบบ ทั้งโลกร้อน ฝนแล้ง และน้ำท่วม ซึ่งแน่นอนว่าได้ส่งผลกระทบต่ออุปทานสินค้าเกษตรในตลาดโลก และคงเป็นปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมอีกประการที่จะค้ำจุนให้ราคาสินค้าเกษตรไม่ปรับลงง่ายนักในเร็ววัน
แม้ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมิได้สนับสนุนความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอให้ประเทศไทยกลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ แต่ใช่ว่าการตรึงค่าเงินให้คงที่นั้นจะไม่มีข้อดีเสียเลย
ต้องยอมรับว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ โดยให้สกุลเงินของประเทศตนอิงกับค่าเงินสกุลของประเทศพัฒนาแล้วเช่น สหรัฐ ก็มีข้อดีไม่น้อยสำหรับประเทศด้อยพัฒนา หรือประเทศที่เพิ่งเริ่มพัฒนาซึ่งมีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจและการเงินไม่มาก ตลาดเงินและตลาดทุนมีขนาดเล็กไม่ได้เชื่อมโยงกับตลาดการเงินโลก เพราะมีการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนเข้มงวด โดยระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มีส่วนช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้ที่ค้าขายระหว่างประเทศและนักลงทุนต่างชาติ เพราะช่วยลดความเสี่ยงแก่นักธุรกิจและนักลงทุนในประเทศเหล่านี้ซึ่งยังปราศจากเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นราวครึ่งหนึ่งของประเทศในโลกยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในรูปแบบต่าง ๆ อยู่ ซึ่งโดยมากเป็นชาติกำลังพัฒนาที่เพิ่งเปิดประเทศค้าขายกับโลกภายนอก เช่น บังกลาเทศมองโกเลีย แองโกลา รวันดา และซิมบับเวเป็นต้น (ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) จะมีข้อยกเว้นบ้างสำหรับบางประเทศที่ภาคส่งออกใหญ่มาก ๆ เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศ เช่นฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่การผูกค่าเงินของตัวเองกับเงินสกุลอื่น เช่น ดอลลาร์สหรัฐก็มีข้อเสียหลายอย่าง ที่มีความสำคัญ คือถ้าไม่ควบคุมเงินทุนไหลเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด ประเทศก็จะไม่สามารถมีนโยบายการเงิน/ดอกเบี้ยที่จะเป็นอิสระสำหรับดูแลภาวะเศรษฐกิจในประเทศของตัวเองได้ ต้องมีอัตราดอกเบี้ยเท่ากับสหรัฐซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับภาวะ หรือวัฏจักรเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มาเป็นระบบลอยตัวค่าเงินแบบมีการจัดการแล้ว 13 ปี ไม่ได้ปล่อยให้เคลื่อนไหวตามยถากรรมอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนเข้าใจผิด ซึ่งที่ผ่านมาก็นับว่าเหมาะสมกับสภาพการณ์ และเป็นส่วนผสมของนโยบายการเงินที่สำคัญ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ โดยอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ราคาสินค้าในประเทศไม่ได้ปรับสูงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งระบบ บรรลุเป้าหมายการเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพดังที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติท่านดำริไว้
วิกฤตการเงินโลกและสถานการณ์ภายในประเทศที่ผ่านมา เป็นบททดสอบความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยอย่างดี GDP ของไทยฟื้นตัวเร็วมาก เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย และเป็นการฟื้นตัวที่มีภาคเอกชน รวมถึงการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน ยั่งยืนกว่าการฟื้นตัวด้วยการอัดฉีดของรัฐอย่างที่ประเทศพัฒนาแล้วจำเป็นต้องทำ ล่าสุดหลายหน่วยงานได้มีการปรับประมาณการ GDP ของปีนี้ขึ้นอีกโดยของ ธปท.ปรับจากร้อยละ 6.5-7.5 มาเป็น 7.3-8.0 นับเป็นการปรับขึ้นติดต่อกัน 4 ครั้ง นอกจากนี้ Moody's ได้ปรับ outlook ของไทยจากลบมาเป็นปกติ ส่วนดัชนีมหภาคทั้งหลายล้วนชี้นำว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเดินไปข้างหน้าดังนั้น การยอมรับว่าประเทศไทยมีระดับการพัฒนาและมีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะไม่ยึดติดกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เหมือนประเทศกำลังพัฒนาอีกครึ่งโลก คงเป็นข้อเท็จจริงอีกประการที่เราควรยอมรับ
แต่การผูกค่าเงินของตัวเองกับเงินสกุลอื่น เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ก็มีข้อเสียหลายอย่าง ที่มีความสำคัญ คือถ้าไม่ควบคุมเงินทุนไหลเข้าออกประเทศอย่างเข้มงวด ประเทศก็จะไม่สามารถมีนโยบายการเงินดอกเบี้ยที่จะเป็นอิสระสำหรับดูแลภาวะเศรษฐกิจในประเทศของตัวเองได้
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย