​BSA : กลไกสู่การเติบโตทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

นางสาวกชพรรณ วงศ์วัฒน์
นางสาวตลับลักขณ์ ธนดิษฐ์สุวรรณ

ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากวิกฤติการเงินครั้งล่าสุดบทบาทของประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียก็มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น บวกกับโอกาสทางเศรษฐกิจที่ช่วยยกระดับความกินดีอยู่ดีส่งผลให้มีจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เราจึงเห็นปรากฏการณ์การผลิตเอง ใช้กันเองและลงทุนระหว่างกันเองในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การที่เอเชียหันมาค้าขายกันเองมากขึ้นนี้ จึงนำมาสู่ประเด็นให้ฉุกคิดว่า น่าจะเริ่มหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการจ่ายเงินซื้อสินค้า หรือจ่ายเพื่อการลงทุนระหว่างประเทศกันมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเมื่อไม่นานนี้ก็เช่น กรณีของรัสเซียและจีนซึ่งตกลงจะใช้เงินหยวนในการจ่ายซื้อก๊าซธรรมชาติระหว่างกัน หรือข่าวที่สิงคโปร์ที่อยากจะผันตัวเองมาเป็นศูนย์กลางการค้าเงินหยวน และจะใช้เงินหยวนในการค้าขายระหว่างจีนกับสิงค์โปร์ เป็นต้น ความคิดในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นนี้ไม่ใช่เพราะปัจจัยเรื่องความสะดวกอย่างเดียว แต่ยังเป็นเพราะช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินสกุลหลักที่นิยมใช้กันอย่าง ดอลลาร์ สรอ. ได้ด้้วย ทำให้ธุรกิจสามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เป็นธรรมดาของการเริ่มต้นอะไรใหม่ ต้องอาศัยภาคทางการมาผลักดัน สร้างความดึงดูดให้เกิดความนิยม และสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้าทั่วไป ในเรื่องการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นก็เช่นกัน ธนาคารกลางของแต่ละประเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างกลไกสภาพคล่องให้มีเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่ค้าในปริมาณเพียงพอตอบสนองความต้องการใช้ ซึ่งกลไกที่ว่าอาจถูกเรียกชื่อไปต่างๆ กัน บางครั้งก็เรียกว่า Bilateral Currency Swap Agreement หรือ บางทีก็ใช้สั้นๆ ว่า “Bilateral Swap Agreement” หรือ BSA ด้วยเหตุที่เครื่องมือ Swap เป็นของคู่กับธนาคารกลาง เมื่อฟังแล้วก็อาจจะสับสน ต้องขอท้าวความว่าในแวดวงธนาคารกลางมีการใช้ swap หลายแบบ และวัตถุประสงค์ต่างกันไป แบบแรกเป็น Swap ที่เป็นเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องระยะสั้นในตลาดเงินเพื่อการดำเนินนโยบายการเงิน (การทำ Open Market Operation หรือ OMO) แบบที่สองเป็น Swap ในยามที่เกิดวิกฤติการเงินที่ธนาคารกลางขาดสภาพคล่องเงินสกุลหลัก เช่น การขาดดุลการชำระเงินอย่างมหาศาล แล้วต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF หรือขอสภาพคล่องภายใต้ความตกลงระดับพหุภาคี เช่น กลไก Chiang Mai Initiative Multilateralization หรือ CMIM ภายใต้กรอบความสัมพันธ์ ASEAN+3 เป็นต้น

แบบที่สาม ซึ่งเป็นสิ่งที่บทความนี้จะขอกล่าวถึงเป็นการเฉพาะ คือ Swap ในตระกูล BSA ที่เกิดจากการทำสัญญาแลกสกุลเงินท้องถิ่นกันชั่วคราวระหว่างธนาคารกลางของสองประเทศ เพื่อเอาไปทำ swap ต่อกับสถาบันการเงินในประเทศตน ในกรณีที่มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้า/บริการ หรือลงทุนแล้วทำให้ตลาดเงินในประเทศใดประเทศหนึ่งขาดสภาพคล่องเงินสกุลของอีกฝ่าย

เพื่อให้ทำความเข้าใจกลไกของ BSA ได้ง่ายขึ้น จึงขอยกตัวอย่างดังนี้
เมื่อปีปลายปี พ.ศ. 2554 แบงก์ชาติไทยได้ลงนามความตกลง BSA กับแบงก์ชาติจีน เพื่อรองรับความต้องการสภาพคล่องเงินบาทและเงินหยวน ในวงเงินไม่เกินเจ็ดหมื่นล้านหยวน เพื่อสนับสนุนการใช้เงินหยวนและเงินบาทในการชำระธุรกรรมการค้าระหว่างไทยและจีน
ผู้นำเข้าคนไทยซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งหนึ่ง ต้องการจ่ายค่าสินค้านำเข้าจากจีนเป็นเงินหยวน มูลค่า 1 ล้านหยวนให้กับผู้ส่งออกในจีน แต่ธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินหยวนไม่พอ และไม่สามารถหาเงินหยวนจากแหล่งอื่นได้ จึงมาขอยืมสภาพคล่องเงินหยวนจากแบงก์ชาติไทย โดยใช้เงินบาทที่มีมูลค่าเทียบเท่า 1 ล้านหยวน เป็นหลักประกัน
เมื่อแบงก์ชาติไทยได้รับการติดต่อจากธนาคารพาณิชย์ไทย ก็จะขอทำ swap กับธนาคารกลางจีนโดยนำเงินบาทที่มีมูลค่าเทียบเท่าไปขอแลกสภาพคล่องเงินหยวนมูลค่า 1 ล้านหยวนจากแบงก์ชาติจีน และนำเงินหยวนที่ได้รับไปทำ swap ต่อกับธนาคารพาณิชย์ไทยต่อไป
มื่อครบกำหนดธนาคารพาณิชย์ไทยนำเงินหยวนมูลค่า 1 ล้านหยวน พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกันมาคืน แบงก์ชาติก็จะส่งคืนแบงก์ชาติจีน โดยนำเงินหยวนพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวมาแลกเอาคืนเงินบาทไป

ปัจจุบัน แบงก์ชาติของหลายประเทศทั่วโลกมีการทำสัญญา BSA ระหว่างกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบงก์ชาติจีน ซึ่งมีสัญญา BSA กับแบงก์ชาติของ 26 ประเทศทั่วโลก เช่น ฮ่องกง อังกฤษ ออสเตรเลีย บราซิล รวมถึงไทย เป็นต้น เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการผลักดันให้เงินหยวนก้าวไปสู่การเป็นเงินสกุลหลักของโลกตามนโยบาย RBM Internationalization ของทางการจีน ความพยายามดังกล่าวเกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น สะท้อนจากปริมาณการใช้เงินหยวนในการชำระสินค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น แบงก์ชาติไทยเล็งเห็นความสำคัญของการเจริญเติบโตของการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจีนและประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (The Greater Mekhong Subregion: GMS) ซึ่งเติบโตต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันผู้นำเข้าและส่งออกก็มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นโดยเฉพาะหยวนและเงินบาทในการชำระเงินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมีแนวโน้มขยายตัวต่อไปในอนาคต

ดังนั้น นอกเหนือจากแบงก์ชาติจีนแล้ว แบงก์ชาติไทยจึงมีแผนที่จะจัดทำสัญญา BSA กับแบงก์ชาติของประเทศอื่นในภูมิภาค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการใช้เงินบาทและเงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างกัน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อลงนามในสัญญา BSA กับแบงก์ชาติของเมียนมาร์ ซึ่งมีไทยเป็นคู่ค้าหลักอันดับสอง (รองจากจีน) รวมถึงการผลักดันให้ทางการเมียนมาร์อนุญาตให้เงินบาทเป็นสกุลเงินที่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินจั๊ตได้อย่างถูกกฎหมายในเมียนมาร์ หากเจรจาได้สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนทั้งสองประเทศและเอื้อให้กลไกตลาดสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนการเจริญเติบโตทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย