ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
นายกัมพล พรพัฒนไพศาลกุล
จากตอนที่ 1 ที่ได้นำเสนอถึงความสำคัญของภาคบริการการท่องเที่ยวที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ไทยจากมุมมองด้านการค้าระหว่างประเทศของมูลค่าการส่งออกด้านบริการท่องเที่ยว (Balance of Trade in Tourism) โดยเป็นแหล่งที่มาสำคัญของรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ในตอนที่ 2 นี้ จะนำเสนอถึง (1) บทบาทของภาคบริการท่องเที่ยวต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (2) นำเสนอผลการประเมินความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ และ (3) นัยทางนโยบายของภาคบริการท่องเที่ยวในระยะต่อไป
ในด้านบทบาทของภาคบริการท่องเที่ยวที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จากผลการศึกษาขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations – World Tourism Organization, UNWTO) ที่วิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลจากบัญชีประชาชาติด้านการท่องเที่ยว (Tourism Satellite Account: TSA) (รูป 1) ชี้ว่าในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ภาคบริการท่องเที่ยวของไทยได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ เศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องทั้งผลทางตรงและผลทางอ้อม ดังนี้
1) ผลทางตรง (Direct Contribution) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย และรายจ่ายของภาครัฐที่ใช้สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวโดยตรง ในช่วงปี 1993-2014 พบว่าภาคบริการท่องเที่ยวได้สร้างมูลค่าเพิ่มแก่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7 ของ GDP
2) ผลทางอ้อม (Indirect Contribution) จากภาคบริการท่องเที่ยวที่ส่งผลเชื่อมโยงไปยังสาขาการผลิตอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยผ่านการสั่งซื้อสินค้าวัตถุดิบต่างๆ จากธุรกิจในภาคท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 9 ของ GDP ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ “ขนาดของผลทางอ้อมมีมากกว่าผลทางตรง” และ
3) ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผลประโยชน์จากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 16 โดยเฉพาะผลทางตรงที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักสอดคล้องกับตัวเลขค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2013 ที่อยู่ประมาณ 146 ดอลลาร์ สรอ./คน/วัน ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกันสะท้อนถึงโอกาสที่ไทยจะสามารถยกระดับกิจกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้อีก
นอกจากนี้ ภาคบริการท่องเที่ยวยังเป็นแหล่งการจ้างงานสำคัญขนาดใหญ่ โดยปี 2014 มีแรงงานทางานในภาคนี้อยู่ถึงล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของการจ้างงานทั้งหมดโดยมีสัดส่วนสูงสุดเทียบกับภาคบริการอื่นๆ และยังสูงกว่าการจ้างงานในภาคภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนแรงงานเพียงประมาณ ร้อยละ 13.6 โดยเป็นรองเพียงภาคการเกษตรกรรมที่มีการจ้างงานร้อยละ 38
มองไปข้างหน้า สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (The Pacific Asia Travel Association) คาดการณ์ว่าอุปสงค์การท่องเที่ยวของโลกจะเพิ่มขึ้นตามรายได้ของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าในปี 2019 ไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 7 ล้านคน จากจำนวน 29.4 ล้านคนในปี 2015 การเติบโตอย่างมากของทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยในระยะข้างหน้านี้ ถึงแม้ในด้านหนึ่งจะสร้างรายได้แก่ภาคบริการท่องเที่ยว แต่อีกด้านหนึ่งจะสร้างความไม่สมดุลและเพิ่มแรงกดดันต่อความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) ของแหล่งท่องเที่ยวของไทยด้วย
จากข้อมูลดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Index: TTCI) ปี 2015 (ตาราง) จะเห็นว่าในภาพรวมความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยยังอยู่ในระดับต่ำหากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในอันดับต้นๆ ของโลก เช่น สเปน ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่มีจุดแข็งทั้งด้านแหล่งดึงดูดการท่องเที่ยวทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม และด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน การท่องเที่ยวของไทยยังสามารถแข่งขันได้ เนื่องจากไทยมีความโดดเด่นในแหล่งท่องเที่ยวด้านทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก
ในภาพรวม ผลจากดัชนีวัดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวนี้สะท้อนประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1) ประเทศในกลุ่มยุโรปไม่ใช้นโยบายด้านราคาในการแข่งขัน ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนมักใช้นโยบายด้านราคาจูงใจ กล่าวคือ มีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยวของไทยที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับจานวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
2) ความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยโดยรวมแย่ลงเทียบกับการจัดอันดับครั้งก่อนในปี 2013 โดยดัชนีชี้วัดย่อย 7 ดัชนีในทั้งหมด 9 ดัชนีมีคะแนนลดลง
3) จุดอ่อนด้านอุปทานของการท่องเที่ยวไทยมี 3 ด้าน คือด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ด้านการคมนาคมทางบกและทางน้ำ และด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมากต่อความยั่งยืนของภาคบริการ ท่องเที่ยวของไทยในระยะข้างหน้า เนื่องจากไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวด้านทรัพยากรธรรมชาติในสัดส่วนสูง (World Tourism Organization, 2010)
ยกตัวอย่างกรณีการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล เช่น การ เสื่อมโทรมของปะการังอยู่ในระดับที่น่ากังวล (รูป 2 ) จากการศึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า สัดส่วนของปะการังมีชีวิตในทะเลไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นผลจากทั้งปรากฎการณ์ปะการังฟอก ขาว (Coral Bleaching) ในปี 2010 รวมถึงผลจากกิจกรรมและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม หรือกรณีล่าสุดของแหล่งท่องเที่ยวภูทับเบิกที่พื้นที่ธรรมชาติถูกบุกรุกจนได้รับความเสียหาย กรณีเหล่านี้สะท้อนให้ เห็นปัญหาและข้อจำกัดในภาคบริการท่องเที่ยวจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่เกินความสามารถในการ รองรับ รวมทั้งด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยวของไทย
ในท้ายสุด ภาคบริการท่องเที่ยวจะเป็นความหวังที่จะช่วยพยุงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพรองรับความผันผวนได้ รวมทั้งการก้าวไปสู่ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่สูงขึ้นที่พึ่งพาภาคบริการตามทฤษฎีการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้หรือไม่ขึ้นกับแนวนโยบาย ด้านบริการท่องเที่ยวที่สำคัญ ดังนี้
1) ควรเร่งให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ช่วยกันปรับปรุงและพัฒนาให้ภาคบริการท่องเที่ยวของไทยมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและเติบโตอย่าง ยั่งยืน สร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ด้านรายได้กับต้นทุนทางเศรษฐกิจโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งต่อการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ด้านวัฒนธรรม และความมั่นคง
2) ในช่วงที่ไทยก้าวเข้าสู่ AEC อย่าง เต็มรูปแบบในปี 2015 ไทยควรเร่งสร้างพันธมิตรภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยง ด้านการเดินทางท่องเที่ยวในกลุ่มสมาชิก AEC โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขยายตลาดการท่องเที่ยวให้กว้างขึ้น และการสร้างอาเซียนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกให้ เกิดขึ้นจริงเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และ
3) ภาคประชาชนซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคบริการการท่องเที่ยว ทั้งเพื่อการพักผ่อนแ ละเปิดโลกทัศน์เสริมสร้างประสบการณ์ ควรช่วยกันดูแลรักษาสถานที่ท่องเที่ยวของไทย รวมทั้งรักษาเอกลักษณ์และวิถีไทยให้สมกับ เป็น “สยามเมืองยิ้ม” และเมืองแห่งผู้คนที่มีไมตรีจิตซึ่งเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างแท้จริง
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย