ดร. นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่สองของปีนี้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแตะระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ที่ร้อยละ 1.25 ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกปี 2552 หลายท่านอาจมีความกังวลใจว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือจะย่ำแย่ถึงขั้นวิกฤตเช่นเดียวกับในอดีตหรือไม่ ในการนี้ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตอบคำถามนี้กับนักลงทุนต่างประเทศว่า Most Likely Not หรือไม่น่าเป็นไปได้
ทั้งนี้ แม้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับเดียวกับปี 2552 แต่ต้องไม่ลืมว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงวิกฤตครั้งก่อนเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 3.75 ณ สิ้นปี 2551 ต่างจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในรอบปัจจุบันที่ปรับลดจากร้อยละ 1.75 ณ สิ้นปี 2561 อย่างไรก็ดี สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดมาจากการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลงซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ ในวันนี้จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยในมุมมองด้านดีของตลาดแรงงานไทยในช่วงเศรษฐกิจขาลง ดังนี้
มิติแรก การจ้างงานในภาคบริการไทยซึ่งไม่นับรวมภาคการค้าและการก่อสร้าง ยังเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งแสนคนหรือร้อยละหนึ่งในช่วงระยะเวลาเก้าเดือนของปีนี้ จากตัวเลขสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และปรับฤดูกาลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนว่าภ าคบริการยังมีความยืดหยุ่นที่จะรองรับผู้ย้ายงานจากภาคอุตสาหกรรมที่พบว่าจำนวนผู้มีงานทำในภาคอุตสาหกรรมลดลงประมาณสี่แสนคน คิดเป็นร้อยละหกในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงอย่างรวดเร็วสะท้อนผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าโลกที่มีต่อภาคการผลิตเพื่อการส่งออกของไทยและส่งผ่านต่อมาถึงตลาดแรงงานในที่สุด
มิติที่สอง จำนวนผู้อยู่นอกกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น จากการสำรวจโดย สสช. และปรับฤดูกาลโดย ธปท.ประมาณเก้าแสนคน หรือ ร้อยละห้าในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้ ต่างจากตัวเลขในปี 2561 ที่เศรษฐกิจขยายตัวดีจึงทำให้ตลาดแรงงานตึงตัวและมีผู้อยู่นอกกำลังแรงงานปรับลดลงประมาณสี่แสนคน คิดเป็นร้อยละสอง จำนวนผู้อยู่นอกกำลังแรงงานโดยเฉพาะในกลุ่มทำงานบ้านและเรียนหนังสือ สะท้อนกำลังแรงงานสำรองของเศรษฐกิจไทยที่พร้อมจะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในยามจำเป็น ดังนั้น การผ่อนคลายลงของตลาดแรงงานในปีนี้อาจเปิดโอกาสให้ภาครัฐสร้างแรงจูงใจดึงดูดแรงงานกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาทักษะเพื่อยกระดับศักยภาพในระยะยาวได้
มิติสุดท้าย จำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขหลังปรับฤดูกาลโดย ธปท. เพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งแสนคน หรือร้อยละหนึ่งในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้ ส่งสัญญาณการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนแรงงานในระบบ จึงบรรเทาผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจลงได้บ้าง เพราะแรงงานกลุ่มนี้จะได้รับการสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อาทิ ค่ารักษาพยาบาล คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ
โดยสรุปแล้ว แม้ตัวเลขตลาดแรงงานไทยที่สะท้อนสถานการณ์ขาลงของเศรษฐกิจอาจนำความกังวลมาสู่สังคมไทย แต่ยังไม่ควรที่เราจะตื่นตระหนกจนเกินไปเพราะต้องยอมรับว่าตลาดแรงงานไทยในช่วงก่อนหน้ามีความตึงตัวมากเปรียบได้กับเครื่องจักรเศรษฐกิจที่ทำงานเต็มกำลัง ดังนั้น หากได้รับการปลดเปลื้องภาระลงบ้าง อาจเป็นโอกาสในการซ่อมบำรุง ให้ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ ร่วมกันพัฒนาทักษะความสามารถของแรงงานให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสอดรับกับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ ๆ นอกจากนี้ แรงงานนอกระบบจะตระหนักว่าหากผันตัวเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้วจะได้รับความคุ้มครองจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการปรับตัวเชิงโครงสร้าง สอดคล้องกับคำทิ้งท้ายของถ้อยแถลง กนง. รอบล่าสุดที่ว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขัน และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย