​ความเหลื่อมล้ำ: ตัวฉุดที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้าลง

ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังโควิด-19 แพร่ระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วโลก และสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในหลายมิติ บทความนี้จะชวนผู้อ่านมาดูพัฒนาการด้านความเหลื่อมล้ำของไทยในช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 และแนวโน้มหลังวิกฤติ ตลอดจนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข



ก่อนวิกฤติโควิด-19: เศรษฐกิจไทยโตดี แต่ประชาชนกลับไม่รู้สึก

ช่วงปี 2558-2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 3.4 ต่อปี และดูเหมือนว่าการกระจายรายได้ (income distribution) ตามตัวเลขทางสถิติต่าง ๆ ภาครัฐก็ให้ภาพที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini coefficient) ด้านรายได้ลดลงจาก 0.47 ในปี 2556 เหลือ 0.43 ในปี 2562 อย่างไรก็ดี ประชาชนกลับเกิดความสงสัยและไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี เป็นเพราะ

(1) เงินที่ได้รับจากการทำงานยังไม่พอเลี้ยงปากท้อง และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากแหล่งอื่น: จากงานศึกษาของพิรญาณ์ รณภาพ (2564)[1],[2] พบว่ากลุ่มครัวเรือนไทยที่จนที่สุด หรือประมาณร้อยละ 20 มีแหล่งรายได้มาจากเงินช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและบุคคลนอกครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของรายได้ที่เป็นตัวเงินทั้งหมด ขณะที่ครัวเรือนอีกร้อยละ 20 ที่จนรองลงมามีสัดส่วนการพึ่งพาเงินช่วยเหลืออยู่ที่เกือบร้อยละ 30

แหล่งที่มาของรายได้ที่เป็นตัวเงินของครัวเรือนไทยในปี 2562 (หน่วย: ร้อยละ)

ที่มา: ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ คำนวณโดยผู้เขียน


(2) ครัวเรือนยังต้องบริโภคด้วยการก่อหนี้: สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2562 ซึ่งอยู่ที่เกือบร้อยละ 80 สูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากเกาหลีใต้

การที่หลายครัวเรือนไทยยังต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากแหล่งอื่น ขณะที่มีหนี้สินที่ต้องทยอยจ่ายอีกมากน่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายคนไม่ได้รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี และสะท้อนถึงความปัญหาเหลื่อมล้ำที่มีมานานตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด-19


วิกฤติโควิด-19: รายได้ลด หนี้สินเพิ่ม ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ

เศรษฐกิจไทยหดตัวสูงถึงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 จากการระบาดของโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากแต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

(1) กลุ่มที่รายได้ลดลงมาก เช่น ลูกจ้างในภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว กลุ่มนี้จะขาดรายได้หรือรายได้ลดลงมากจากการเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่น อาจต้องนำเงินออมที่มีอยู่มาใช้จ่าย รวมถึงอาจต้องก่อหนี้เพิ่มในช่วงที่ขาดรายได้

(2) กลุ่มที่รายได้ยังเท่าเดิมหรือลดลงไม่มาก เช่น ข้าราชการ ลูกจ้างของรัฐ และลูกจ้างภาคเอกชนบางส่วน กลุ่มนี้ยังออมเงินในอัตราที่ใกล้เคียงเดิมหรืออาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการ lockdown และการ work from home ทำให้สามารถประหยัดการใช้จ่ายต่าง ๆ ได้

(3) กลุ่มที่รายได้เพิ่มขึ้น เช่น พ่อค้าแม่ค้าที่ปรับตัวไปขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ กลุ่มนี้สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส สามารถเพิ่มรายได้และเก็บออมได้มากขึ้น

จะเห็นได้ว่าบางกลุ่มมีฐานะที่ดีขึ้น มีเงินออมมากขึ้น ขณะที่บางกลุ่มมีเงินออมลดลงและมีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ล่าสุดในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 89.3 วิกฤติ

โควิด-19 จึงเป็นการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้แย่ลง ซึ่งหากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เพราะคนรายได้น้อยจำนวนมากต้องนำเงินที่หามาได้ไปจ่ายคืนหนี้ก่อน ทำให้ใช้จ่ายได้ไม่เต็มที่ การใช้จ่ายในประเทศถูกขับเคลื่อนโดยคนกลุ่มรายได้สูงซึ่งมีจำนวนน้อย ส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมอ่อนแอและมีขนาดเล็กลงไปโดยปริยาย เมื่อเป็นเช่นนี้ภาคธุรกิจจะขาดแรงจูงใจในการลงทุน เนื่องจากผลิตสินค้าและบริการขึ้นมาก็ไม่สามารถทำยอดขายที่สูงได้ ท้ายที่สุด ทั้งการบริโภคของภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคธุรกิจที่น้อย จะฉุดให้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้าลงอย่างถาวร จากเดิมที่โตได้เต็มศักยภาพที่ร้อยละ 3-4 อาจเหลือเพียงร้อยละ 2-3 ซึ่งจะยิ่งทำให้คนไทยมีรายได้น้อยลง เหลื่อมล้ำมากขึ้น และหลุดพ้นจากวงจรหนี้สินได้ยากขึ้นตามไปด้วย


หลังวิกฤติโควิด-19: มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

ปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องได้รับการแก้ไข และเป็นที่ทราบกันดีว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นซับซ้อน ใช้เวลานาน และไม่สามารถทำสำเร็จได้โดยง่าย แต่ผู้เขียนจะขอชวนคิดใน 3 ประเด็นดังนี้

(1) ต้องมีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา: การปฏิรูปการจัดเก็บภาษีจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพียงพอเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน อาทิ ภาษีที่เรียกเก็บจากฐานทรัพย์สินของคนรายได้สูง

(2) ต้องจัดสรรทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด: ไม่ทำนโยบายแบบเหวี่ยงแห ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ภาครัฐควรมุ่งทำนโยบายให้ตรงจุด เช่น การสร้างแรงจูงใจให้คนรายได้สูงมาซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตโดยคนรายได้น้อย และการสร้างงานและอาชีพเสริม (Job Creation) ให้กับกลุ่มคนรายได้น้อยตามชุมชน

(3) ต้องพิจารณาความสมดุลในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว: นอกจากจะจ่ายเงินเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว จะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาวด้วย เช่น การลงทุนด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านการศึกษา(ทั้งในและนอกระบบ) การลงทุนด้านสาธารณสุข รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และการฝึกทักษะแรงงานให้กับผู้ว่างงาน เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

ทั้งนี้ ทุกประเด็นต้องอาศัยพลังและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันขบคิด และจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่คอยฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย เพื่อให้สามารถกลับไปเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง ทั่วถึง และยั่งยืนในระยะยาวได้


อ้างอิง :
[1] พิรญาณ์ รณภาพ (2564), ลดความเหลื่อมล้ำ นำไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน, บทความ aBRIDGEd, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 17 มีนาคม
[2] พิรญาณ์ รณภาพ (2564), ลดความเหลื่อมล้ำ นำไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน, บทความ เศรษฐศาสตร์เข้าท่า, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 23 เม.ย.


ผู้เขียน :
พิรญาณ์ รณภาพ
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 11 พ.ย. 2564



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย