​สถาบันการเงินเฉพาะกิจกับภารกิจการกระจายโอกาสทางการเงินให้ทั่วถึง (ตอนที่ 2)

​​นางสาวทิพย์สุดา สุขดา
นายธาริศ วสุพงศ์โสธร
ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

ครั้งที่แล้วผู้เขียนได้กล่าวถึงภารกิจหลักของแบงก์รัฐ คือ การให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน หรือธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการอื่นได้ ซึ่งช่วยกระจายโอกาสทางการเงินให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง แต่บทบาทของแบงก์รัฐมิได้มีเพียงเท่านี้ ยังมีบทบาทอื่นที่สำคัญอีก 3 ด้าน คือ การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน การฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ ซึ่งล้วนเป็นภารกิจสำคัญและมีความท้าทายต่อการดำเนินงานของแบงก์รัฐเช่นกัน

เริ่มจากบทบาทการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน แบงก์รัฐมีส่วนช่วยกระตุ้นให้กลไกตลาด ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อธิบายให้ง่ายขึ้น คือ เป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้รับบริการทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์มากขึ้นและในราคาที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ บทบาทดังกล่าว เช่น การเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อกับผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบหรือมีหลักทรัพย์ค้าประกันไม่เพียงพอ เพื่อนำเงินไปลงทุนหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนช่วงที่ขาดสภาพคล่อง การรับซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารพาณิชย์และนำมาเป็นหลักประกันในออกตราสารหนี้ หรือการทำธุรกรรม Securitization เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์ในการขยายสินเชื่อเพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น และช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยแก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในระยะยาว อีกทั้งการออกตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันหรือ Mortgage Backed Securities (MBS) ก็ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในตลาด การเงินให้มีความหลากหลาย เพิ่มทางเลือกแก่นักลงทุนมากขึ้น และการรับประกันการส่งออกเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการรับชำระค่าสินค้าแก่ผู้ส่งออก ลดความเสี่ยงที่ผู้ส่งออกจะไม่ได้รับเงิน เนื่องจากผู้นำเข้าในต่างประเทศประสบปัญหาการล้มละลาย หรือได้รับผลกระทบทางการเมืองส่งผลต่อการโอนเงินออกนอกประเทศ เป็นต้น ซึ่งบริการนี้จะช่วยทำให้ผู้ส่งออกสามารถขยายฐานลูกค้าและเปิดการค้ากับตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวได้ดี แต่อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าตลาดคู่ค้าหลัก เช่น อเมริกาใต้และแอฟริกา ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมการส่งออกของประเทศและการเติบโตของเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ ในปัจจุบันแบงก์รัฐก็มีความพยายามศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น ผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุในรูปแบบ Reverse Mortgage เป็นต้น
บทบาทอีกด้านของแบงก์รัฐในฐานะของการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาประเทศ คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ชะลอลงจากความ เสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น แบงก์รัฐจึงเข้ามาขยายสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบให้อยู่รอดและประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เห็นได้ชัดจากช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2551 แบงก์รัฐดำเนินงานเชิงรุกมากขึ้น ด้วยการตั้งหน่วยให้บริการสินเชื่อในแหล่งชุมชน และการผ่อนปรนเงื่อนไขการค้ำประกัน เป็นต้น ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและช่วยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับภาวะน้ำท่วมเมื่อปี 2554 แบงก์รัฐก็สนับสนุนสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และเพิ่มสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวภายในเวลาไม่นานนัก

และบทบาทสุดท้ายที่จะไม่กล่าวถึงก็คงไม่ได้ คือ การสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ แบงก์รัฐมีส่วนสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นและพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ในอดีต รวมถึง ช่วง 1 - 2 ปีมานี้ที่เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาทั้งปัจจัยภายนอกจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัจจัยภายในจากความสามารถทางการแข่งขันของไทยลดลง รัฐบาลจึงกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นการดำเนินมาตรการผ่านแบงก์รัฐ โดยในปี 2558 มาตรการจะเน้นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม ได้แก่ สินเชื่อกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้ครัวเรือนฐานรากมีความเป็นอยู่ดีขึ้น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ Soft Loan แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังซบเซา และ ภายหลังที่เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวดีขึ้น รัฐบาลจึงดำเนินมาตรการเพื่อพัฒนาศักยภาพในแต่ละภาค เศรษฐกิจต่อเนื่องในปีนี้ ได้แก่ สินเชื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งเพื่อปรับรูปแบบการผลิตเป็นระบบเกษตรพันธสัญญาหรือ Contract Farming ที่มีตลาดรองรับผลผลิตแน่นอน สินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร สินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐที่สนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง การค้ำประกันผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่ม Start-up และนวัตกรรมสินเชื่อ Soft Loan แก่ SMEs เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการให้สินเชื่อและพักชาระหนี้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลการดำเนินงานมาตรการดังกล่าวที่มีวงเงินรวมกว่า 624,033 ล้านบาท จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2559 แบงก์รัฐสามารถสนับสนุนนโยบายรัฐได้เกือบครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยมาตรการส่วนใหญ่อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่สิ้นสุดอายุของมาตรการ

นอกจากมาตรการทางการเงินแล้ว รัฐบาลยังมอบหมายให้แบงก์รัฐทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทั้งการวางแผนการเงิน การพัฒนาอาชีพ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจเพื่อยกระดับธุรกิจไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ขณะเดียวกัน แบงก์รัฐบางแห่งยังเป็นผู้นำส่งผลกำไรเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้เสริมที่สำคัญในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวซึ่งรายได้หลักของรัฐบาลจากเงินภาษีลดลง เงินนำส่งรายได้ดังกล่าวยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องและขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลัง (Policy Space) ของรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วย

บทบาททั้ง 4 ด้านของแบงก์รัฐตามที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นภารกิจสำคัญที่สะท้อนว่าแบงก์รัฐมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย การดำเนินงานตามพันธกิจพร้อมกับการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจะช่วยกระจายโอกาสทางการเงินให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ดี มีข้อพึงพิจารณาบางประการเกี่ยวกับบทบาทของแบงก์รัฐ เช่น บทบาทการฟื้นฟูในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวนั้นควรลดลงเมื่อเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวมีความเสี่ยงและต้นทุนสูงกว่าช่วงเวลาปกติ ซึ่งการดำเนินบทบาทนี้อย่างต่อเนื่องอาจกระทบฐานะทางการเงินของแบงก์รัฐได้ ทั้งนี้ แบงก์รัฐควรดำเนินงานในลักษณะที่ผันผวนตรงกันข้ามกับวัฏจักรเศรษฐกิจ (Counter-cyclical) หรือในกรณีที่แบงก์รัฐถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายที่ไม่เหมาะสมก็อาจนำมาซึ่งผลกระทบในวงกว้างได้เช่นกัน ดังนั้น การกำหนดนโยบายสู่แบงก์รัฐและการดำเนินงานของแบงก์รัฐเองควรยึดหัวใจสำคัญของการทำหน้าที่ของสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา ซึ่งก็คือการรักษาสมดุลระหว่างการดำเนินงานตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมายกับความมั่นคงและยั่งยืนของแบงก์รัฐเอง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย