​ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน กับการยกเครื่องควบคุมเศรษฐกิจของจีน

ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทเอกชนหลายแห่งในจีนกำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักภายหลังที่รัฐบาลจีนเพิ่มความเข้มข้นในการคุมการทำธุรกิจของบริษัทจีนผ่านการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ (regulatory risk) ทั้งการผูกขาดทางการค้า กฎเกณฑ์การทำธุรกิจ และการควบคุมการนำข้อมูลผู้บริโภคไปใช้โดยเฉพาะกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทำไมอยู่ดี ๆ รัฐบาลจึงหันมาเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอใช้โอกาสนี้พูดถึงแนวทางการบริหารเศรษฐกิจจีนยุคใหม่ที่อาจจะเป็นเหตุผลเบื้องหลังในเรื่องนี้ค่ะ

China stock market / Shanghai stock exchange analysis forex indicator trading graph chart business growth finance money crisis economy and Trade war with China flag

ในงานการฉลองพรรคคอมมิวนิสต์จีนครบรอบ 100 ปี ทางการจีนได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระยะ 5 ปี (ปี 2564-2568) ที่มีเป้าหมายให้เศรษฐกิจขยายตัวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน แทนการเน้นที่เป้าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี ภายใต้แผนนี้จีนจะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้เติบโตในระยะยาวด้วยกลยุทธ์แบบผสมผสานให้มีการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual circulation) ที่ต้องมีความสมดุลของเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ โดยเศรษฐกิจภายในประเทศจะค่อย ๆ ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ ผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงของจีนเองขณะเดียวกันก็สนับสนุนด้านการเงิน ปรับหรือออกกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อบริษัทในประเทศ และเสริมสร้างการบริโภคในประเทศให้แข็งแกร่งและมีการกระจายรายได้ที่ทั่วถึง สำหรับเศรษฐกิจภายนอกประเทศ เน้นใช้จุดแข็งของภาคเอกชนจีน ไปหารายได้และรักษาส่วนแบ่งตลาดส่งออก โดยที่ไม่เผยแพร่ข้อมูลที่อาจเป็นผลเสียต่อเชิงกลยุทธ์และความมั่นคงของจีน

ทั้งนี้ ภายใต้แผนดังกล่าว ทางการจีนได้เริ่มจัดระเบียบภายในจีนเองเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพโดย บริษัทในภาคเอกชนจีนต้องอยู่ในกรอบหรือกฎเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ คือ 1. ไม่ปิดบังข้อมูลต่อรัฐบาล และต้องไม่นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อความได้เปรียบด้านการแข่งขันธุรกิจกับบริษัทอื่น ๆ ของจีนจนเกิดการผูกขาดทางการค้า 2. ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ต้องไม่ขัดกับแนวทางการพัฒนาประเทศในมิติเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึง 3. บริษัทในภาคเอกชนจีนต้องอยู่ในกรอบที่รัฐบาลวางไว้ และไม่วิจารณ์การทำงานหรือผลงานของรัฐบาล ดังนั้น การเคลื่อนไหวของรัฐบาลจีนในช่วงที่ผ่านมาจึงค่อนข้างเข้มข้นและกระจายไปในหลายกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มเทคโนโลยี เช่น การสั่งให้ถอดแอปพลิเคชันของ Didi ที่ให้บริการเรียกรถแท็กซี่ที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลว่าบริษัทมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง การลงดาบบริษัทเทคโนโลยีด้านบันเทิงอย่างกลุ่ม Tencent ให้ยกเลิกสิทธิ์ขาดแต่เพียงผู้เดียวในการถือครองลิขสิทธิ์เพลง เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจ ล่าสุดรัฐบาลจีนออกคำสั่งในธุรกิจสถานศึกษาและสถาบันกวดวิชาต่าง ๆ ให้ปรับรูปแบบเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เพราะค่าใช้จ่ายของครอบครัวด้านนี้ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของครอบครัว ทำให้คนจีนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก และส่งผลให้แนวโน้มประชากรจีนลดลงมาต่อเนื่อง ซึ่งขัดกับแนวทางการพัฒนาประเทศ และอาจเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตจากโครงสร้างประชากรที่บิดเบี้ยวได้

การควบคุมหรือการออกกฎข้อบังคับของจีน ในระยะสั้นแม้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยเฉพาะในตลาดทุนจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น แต่หากมองอีกมุมหนึ่งทางการจีนเองมุ่งหวังให้เกิดการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้โอกาสบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถเติบโตได้และทำให้เกิดเสถียรภาพกับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว มาถึงตรงนี้จึงต้องติดตามต่อไปว่า ยังมีจุดอ่อนใดในอุตสาหกรรมหรือบริษัทต่าง ๆ ของจีนที่ทางการมองว่าผิดไปจากปรัชญาการบริหารเศรษฐกิจที่เหมาะสมในระยะยาวหรือไม่ ซึ่งย่อมสร้างความไม่แน่นอนและกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อไปค่ะ


ผู้เขียน :
ธนันธร มหาพรประจักษ์

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2564


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย