​นางสาววิชญา ยถาภูธานนท์
สายกำกับสถาบันการเงิน

ท่ามกลางกระแสสังคมที่นิยมการบริโภคและรักความสะดวกสบายในปัจจุบัน ประกอบกับการจัดโปรโมชั่นรายการส่งเสริมการขายที่กระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค เช่น ส่วนลดในการซื้อสินค้าหรือบริการ การสะสมคะแนนเพื่อแลกซื้อของ การผ่อนชำระด้วยดอกเบี้ยร้อยละศูนย์ เป็นเวลา ตั้งแต่ 3 เดือน 10 เดือน หรือมากกว่านั้น ส่งผลให้ผู้คนในสังคมจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ทั้งสิ่งที่จำเป็นและ ไม่จำเป็นต่อการดารงชีพ ดังนั้น หากการใช้จ่ายเงินมีความเหมาะสมกับรายได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ในหลายกรณีเป็นการใช้จ่ายเงินเกินตัว ซึ่งเกิดจากความอยากได้อยากมี เพื่อสนองความต้องการของตนเอง หรือเพื่อให้รู้สึกทัดเทียมกับผู้อื่นในสังคม “คนอื่นก็มีกัน ชั้นขอมีบ้าง” การใช้จ่ายดังกล่าวจึงไม่ผ่านกระบวนการคิดอย่างรอบคอบก่อนซื้อ ทำให้ขาดการวางแผนทางการเงินที่ดี อันนำไปสู่การก่อภาระหนี้สินเกินตัว ซึ่งส่งผลกระทบ ต่อความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังจะเห็นได้จากข้อมูลในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ยอดหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 162 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 เป็น 224 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 ขณะที่ยอดหนี้บัตรเครดิตด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นจาก 3 พันล้านบาท เป็น 8 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 167 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนที่สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ขณะเดียวกันวินัยทางการเงินก็ด้อยลงด้วย เช่นเดียวกับงานวิจัยเกี่ยวกับการก่อภาระหนี้ที่พบว่าปัจจุบันคนวัยทำงานที่มีอายุ 29 ปี เป็นกลุ่มที่มีการค้างชำระหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันเป็นจำนวนมากที่สุด อันเป็นผลมาจากคนกลุ่มนี้ไม่กลัวการเป็นหนี้เนื่องจากคิดว่าตัวเอง ยังมีเวลาในการหารายได้อีกนานที่จะนำเงินมาชาระหนี้ ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยโดยขาดความระมัดระวัง ไม่ได้คำนึงถึงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นต่อรายได้และความสามารถในการจ่ายชาระหนี้ของตนเอง ผลที่ตามมาคืออาจมีภาระหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นหนี้เสีย มีประวัติค้างชาระหนี้ ถูกคิดดอกเบี้ยและค่าปรับในอัตราสูงถูกติดตามทวงถามหนี้และดำเนินการทางกฎหมาย ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนจากพฤติกรรมของคนช่วงอายุเดียวกัน ในอดีตที่จะกลัวการเป็นหนี้และพยายามมัธยัสถ์เก็บออมเพื่อสร้างครอบครัว

สัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่าการเงินเริ่มมีปัญหาคือการไม่ทราบว่ามีเงินเข้าเท่าไหร่ มีภาระค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ยอดหนี้สูงขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจ่ายหนี้ได้ไม่เต็มจำนวน กดเงินสดจากบัตรเครดิต หรือพึ่งพาเงินกู้ส่วนบุคคล ถอนเงินออมมาใช้จ่าย จากนั้นเริ่มแก้ปัญหาโดยการกู้ใหม่เพื่อชำระหนี้เดิม หรือหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก ก็จะทำให้การแก้ปัญหาทางการเงินยิ่งยากขึ้น หลายคนคิดว่าการหารายได้ที่เพิ่มขึ้น จะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ถูกต้อง แต่หลายคนทำงานหาเงินเพื่อให้ มีรายรับที่เพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายปัญหาหนี้สินยังคงมีอยู่และปัญหาเงินขาดมือยังไม่หมดไป สาเหตุสำคัญเกิดจากอุปนิสัยการใช้จ่ายเงินเกินตัว ขาดการเก็บออม และขาดการวางแผนทางการเงินที่ดี ทำให้โอกาสที่เงินจะรั่วไหล กิน ใช้ เที่ยว ตามกระแสสังคม เกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว

การสร้าง “วินัยทางการเงิน” เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยจัดการชีวิตให้เป็นระเบียบ โดยการวางแผนการเงินที่ดี คิดอย่างรอบคอบก่อนใช้จ่าย จัดสรรรายได้สำหรับค่าใช้จ่ายแต่ละประเภท ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ชำระหนี้ให้ตรงกำหนดเพื่อไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ออมเงินไว้ใช้สำหรับรายจ่ายก้อนโตหรือเพื่อลงทุนหา ผลตอบแทน เครื่องมือหนึ่งที่ใช้ง่ายและได้ผลดีในทุกยุคทุกสมัย คือการจดบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวัน และจัดทำสรุปการใช้จ่ายเมื่อสิ้นเดือน เพื่อให้เห็นภาพของรายได้ว่ามาจากที่ใดบ้าง รายจ่ายหมดไปกับเรื่อง ใดบ้าง จำเป็นหรือไม่ ปัจจุบันในยุคดิจิทัลมีแอพพลิเคชั่น (Application) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “แอพ” (App) ช่วยในการทำบัญชีรายรับรายจ่ายส่วนบุคคลที่สามารถใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือได้โดยง่าย เช่น Spendee, Coinkeeper หรือ “แอพ” ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยคนไทยที่ชื่อว่า “พอเพียง” จากการทำบัญชีดังกล่าว เราสามารถดูว่ามีรายจ่ายใดบ้างที่ลดลงได้อีก เพื่อให้สามารถออมเงินได้มากขึ้น หรือเพื่อให้รายจ่ายน้อยกว่ารายรับ หากมีหนี้สินก็ต้องประหยัดมากขึ้น และทยอยผ่อนชาระหนี้จนหมด รวมทั้งไม่ก่อหนี้เพิ่มเติมโดยเฉพาะเมื่อไม่มั่นใจว่าจะหาเงินมาชำระคืนหนี้สินนั้นได้อย่างไร อย่าเป็นหนี้เพียงเพราะความอยากได้ ต้องคิดให้รอบคอบ รวมทั้งศึกษาให้เข้าใจถึงประเภทสินเชื่อและดอกเบี้ยซึ่งจะเป็นภาระตามมา

วินัยทางการเงินที่ดี สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวัยและเริ่มได้ทันทีเพื่อสร้างอนาคตที่สดใสและมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กที่เริ่มเรียนรู้ค่าของเงินและอดออม วัยทำงานที่อยู่ระหว่างการสร้างเนื้อสร้างตัวและสร้างครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบตัวเองและผู้อื่น และวัยเกษียณที่จะต้องวางแผน เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้อื่น อย่างไรก็ตาม การสร้างวินัยทางการเงินที่ดีอาศัยความอดทนและความตั้งใจอย่างยิ่งยวด การปรับเปลี่ยน พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินไม่ใช่เรื่องง่ายที่เกิดขึ้นได้ในช่วงข้ามคืน การตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน เช่น การ มีบ้าน มีรถ มีชีวิตที่ดี และลำดับความสำคัญของเป้าหมาย รวมทั้งวางแผนการเก็บออมและการใช้จ่ายให้ สอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้ เป้าหมายที่ชัดเจนจะเป็นสิ่งสำคัญที่สนับสนุนให้เรามุ่งมั่นในการ ปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินและอิสรภาพทางการเงินที่ไม่มีภาระหนี้สินในที่สุด

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย