นางสาวมุทิตา อริยะวุฒิกุล ฝ่ายนโยบายการเงิน
นางสาวพัชรี พันธุ์พงศ์พิพัฒน์ ฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน
ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาในปริมาณมากจากการที่ต่างชาติมีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพต่างประเทศของไทย เช่น การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า บทความนี้จะเล่าให้ผู้อ่านทราบถึงกระแสเงินทุนในอีกด้านหนึ่ง คือ การออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของคนไทย ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นต่อเนื่องและมีส่วนช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง โดยผู้เขียนจะใช้ฐานข้อมูลยอดคงค้างของการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย (Portfolio Investment Aboard: PIA) ที่จัดเก็บโดย ธปท. ซึ่งครอบคลุม กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF) กองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นิติบุคคลไทยที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป บริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ผู้ลงทุนสถาบันอื่น ๆ บุคคลธรรมดาที่ลงทุนผ่านนายหน้า (Broker) รวมถึงนักลงทุนสถาบันที่บริหารเงินออม (Contractual Saving Institutions) ซึ่งประกอบด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนประกันสังคม
คนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยนิยมตราสารหนี้มากที่สุด
จากข้อมูลพบว่าคนไทยมีแนวโน้มออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลยอดคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 ชี้ว่าคนไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสูงถึง 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 15 ต่อ GDP หรือเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเทียบกับยอดคงค้าง 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558
เมื่อวิเคราะห์ “ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน” พบว่าตราสารหนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยมียอดคงค้างเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยการฝากเงินในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit: FCD) ในต่างประเทศ (19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และการลงทุนผ่านหน่วยลงทุนในต่างประเทศ (18,000ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตามลำดับ โดยการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศของคนไทยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 40 จากสิ้นปี 2558 เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของไทยอยู่ในระดับต่ำ
ขณะเดียวกันคนไทยมีการโยกย้ายเงินลงทุนตามสถานการณ์ความเสี่ยงในตลาดการเงินโลกเช่นกัน โดยในปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนจากการกีดกันทางการค้า รวมทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ปรับลดลงจากปี 2560 และย้ายเงินลงทุนมาพักไว้ใน FCD ในต่างประเทศซึ่งมีความเสี่ยงต่ำกว่าแทน และล่าสุดในปี 2562 FCD ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากการที่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนบางแห่งออกไปลงทุนใน FCD ในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน 3 รูปแบบข้างต้นคิดเป็นร้อยละ 95 ของยอดคงค้างการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศทั้งหมดในปัจจุบัน ขณะที่ตราสารทุนไม่ได้รับความนิยมนัก เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้ออกไปลงทุนในตราสารทุนโดยตรง แต่นิยมลงทุนผ่านหน่วยลงทุนต่างประเทศที่มีการบริหารจัดการโดยผู้บริหารกองทุนในต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง เพราะเชื่อว่าผู้บริหารกองทุนในต่างประเทศมีความรู้และความเชี่ยวชาญในการลงทุนที่ดีกว่า และจะลงทุนตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้
ครึ่งหนึ่งของการลงทุนกระจุกอยู่ใน 5 ประเทศ
เมื่อวิเคราะห์ “ประเภทผู้ลงทุน” พบว่า FIF จัดเป็นผู้เล่นสำคัญในการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ คิดเป็นร้อยละ 73 ของการลงทุนทั้งหมด เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะลงทุนผ่าน FIF เป็นหลัก ตามมาด้วยบริษัทประกัน (ร้อยละ 15) และ contractual saving institutions (ร้อยละ 5) ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาประเทศที่นักลงทุนไทยนิยมออกไปลงทุนพบว่าเงินลงทุนกว่า 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศกระจุกอยู่ใน 5 ประเทศหลัก ได้แก่ (1) กาตาร์ (2) ลักเซมเบิร์ก (3) ฮ่องกง (4) สหรัฐอเมริกา และ (5) จีน โดยคนไทยนิยมลงทุน FCD ในกาตาร์และฮ่องกง ตราสารหนี้ในจีน และลงทุนในหน่วยลงทุนของสหรัฐฯ และลักเซมเบิร์กเป็นหลัก เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมอยู่มาก
ธปท. ปรับเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ธปท. ได้ประกาศปรับกฎเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ได้แก่ (1) การเปิดเสรีให้นักลงทุนไทยรายย่อยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองภายในวงเงินไม่เกิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี จากเดิมที่ต้องลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือต้องเป็นนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งสูงตามเกณฑ์ที่กำหนด (Qualified Investor) และ (2) เพิ่มวงเงินรวมสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จัดสรรให้นักลงทุนสถาบันภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แก่ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนรายย่อยที่ลงทุนผ่านตัวกลางเป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การผ่อนคลายข้างต้นนอกจากจะช่วยปรับสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายให้มีฝั่งไหลออกมากขึ้นและช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทแล้ว ยังช่วยให้คนไทยมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มเติม สามารถบริหารความเสี่ยง และสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจต่างประเทศ ส่งผลให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมที่เน้นลงทุนในประเทศ ดังนั้น การสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศระยะต่อไปอาจทำได้โดย การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน อาทิ การฝากเงินใน FCD การลงทุนผ่าน FIF ไปจนถึงการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้คนไทยมีความเชี่ยวชาญ สามารถประเมินความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ดีขึ้น ทั้งความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงของประเทศที่ไปลงทุนซึ่งจะทำให้การออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพในระยะยาวรวมถึงในระยะต่อไป ธปท. จะผ่อนคลายเกณฑ์การออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เพื่อรองรับความต้องการของคนไทยที่มีแนวโน้มออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน