นายพรชัย ฬิลหาเวสส
การเพิ่มระดับความปลอดภัยของบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรเอทีเอ็มจากการคัดลอกข้อมูลบนบัตรเพื่อไปทำบัตรปลอม หรือที่เรียกว่า สกิมมิ่ง (Skimming) เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้ใช้บริการแล้วยังถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศด้วย
ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศชั้นนำหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียได้ปรับวิธีการบันทึกข้อมูลบนบัตรอิเล็กทรอนิกส์จากระบบแถบแม่เหล็กเป็นรูปแบบชิป หรือชิปการ์ด ตามมาตรฐาน EMV (Europay MasterCard และ VISA) ที่ผู้ให้บริการเครือข่ายยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 รายร่วมกันพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายรายอื่น ๆ เช่น UnionPay และ JCB ก็ร่วมใช้มาตรฐานนี้ด้วย โดยนอกเหนือจากตัวบัตรแล้ว ก็ต้องมีการปรับระบบ IT และเพิ่มอุปกรณ์ในการอ่านชิปที่เครื่องเอทีเอ็มและเครื่องรับบัตรเพื่อรองรับด้วยเช่นกัน
ท่านผู้อ่านอาจยังไม่แน่ใจว่า บัตรในรูปแบบชิปจะช่วยลดการปลอมแปลงบัตรได้จริงหรือ? ซึ่งในเรื่องนี้ประสบการณ์ของหลาย ๆ ประเทศช่วยยืนยันครับว่า “ได้” เพราะจากผลการศึกษาของหลายประเทศสะท้อนให้เห็นว่า การปรับวิธีบันทึกข้อมูลลงบนชิปช่วยลดการฉ้อโกงจากการปลอมแปลงบัตรได้มากทีเดียว
ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการชำระเงินในออสเตรเลียได้ร่วมมือกันทยอยเปลี่ยนวิธีบันทึกข้อมูลลงบนชิปมาตั้งแต่ปี 2551 โดยตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนให้เป็นชิปการ์ดทั้งหมดภายในปี 2557 ซึ่งการปรับเป็นชิปในครั้งนั้นส่งผลให้มูลค่าความเสียหายจากการฉ้อโกงจากการปลอมแปลงบัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ลดลงกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 5 ปี จากความเสียหายในระดับ 56 ล้านเหรียญออสเตรเลียในปี 2551 เหลือเพียง 36 ล้านเหรียญออสเตรเลียในปี 2556
สำหรับในประเทศอังกฤษที่สามารถเปลี่ยนเป็นชิปการ์ดไดทั้งหมดตั้งแต่ปี 2549 ทำให้ความเสียหายจากการฉ้อโกงในธุรกรรมลักษณะเดียวกันลดลงอย่างต่อเนื่อง จากช่วงก่อนการนำชิปการ์ดมาใช้ในปี 2547 จนกระทั่งถึงปี 2556 มูลค่าความเสียหายลดลงไปกว่า 66 เปอร์เซ็นต์ โดยความเสียหายจากการปลอมแปลงบัตรที่ยังเหลืออยู่ส่วนใหญ่เกิดจากการนำบัตรปลอมไปใช้งานในต่างประเทศ แต่ที่เห็นผลเด่นชัดที่สุดคงจะต้องยกให้กับฝรั่งเศสที่การตัดสินใจเปลี่ยนบัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นชิปการ์ดทั้งหมดในปี 2549 มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความเสียหายจากการปลอมแปลงบัตรลดลงถึง 97 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียวครับ
นอกเหนือจากความเสียหายที่เป็นตัวเงินจากการปลอมแปลงบัตรที่ลดลงแล้ว การนำชิปการ์ดมาใช้ยังสามารถช่วยลดต้นทุนแฝงด้านอื่น ๆ ที่เราอาจมองข้ามไป ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนจากการพิสูจน์ข้อเท็จจริง การฟ้องร้องดำเนินคดี การออกบัตรใหม่ และที่สำคัญที่สุดก็คือ การเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมาใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์อีกครั้ง ไม่ใช่แค่ประโยชน์ในแง่ของความปลอดภัยเท่านั้นนะครับ คุณสมบัติของชิปการ์ดยังช่วยให้ธนาคารสามารถเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานของบัตรให้หลากหลายมากขึ้น รวมบริการหลาย ๆ ประเภทเช่น บัตรเดบิต บัตรรถไฟฟ้า รวมไปถึง e-Money ไว้ในบัตรใบเดียวกัน ทำให้ผู้ใช้บัตรอย่างเราสะดวกสบายไม่ต้องพกบัตรหลายใบให้ยุ่งยากเหมือนแต่ก่อน
ชิปการ์ดแทบทุกใบจะมีทั้งชิปและแถบแม่เหล็กอยู่ในบัตรเดียวกัน ซึ่งข้อมูลของผู้ใช้งานถูกบันทึกไว้ทั้งสองที่เพื่อความยืดหยุ่นให้บัตรสามารถใช้งานได้กับเครื่องเอทีเอ็มที่ยังไม่สามารถอ่านชิปได้ด้วย ซึ่งในกรณีนี้ ข้อมูลยังอาจถูกคัดลอกจากแถบแม่เหล็กได้ แต่จะถูกนำไปใช้ได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการอนุมัติรายการในระบบของแต่ละธนาคารครับ โดยในปัจจุบันเริ่มมีบางธนาคารปรับเงื่อนไขให้อนุมัติรายการบัตรเฉพาะข้อมูลที่มาจากระบบชิปเท่านั้น หรือพูดง่าย ๆ คือปิดการประมวลผลข้อมูลที่มาจากแถบแม่เหล็ก ทำให้บัตรปลอมที่ใช้แถบแม่เหล็กไม่สามารถทำรายการใด ๆ ได้
อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศที่ได้เปลี่ยนเป็นชิปการ์ดแล้ว แต่หากลูกค้ามีความจำเป็นต้องการนำบัตรไปใช้งานในประเทศที่เครื่องเอทีเอ็มยังไม่รองรับการอ่านชิป ลูกค้าก็สามารถขอให้ธนาคารเปลี่ยนเงื่อนไขให้อนุมัติรายการให้อ่านข้อมูลจากแถบแม่เหล็กเป็นการชั่วคราวได้ด้วยครับ
ทั้งนี้ บัตรเครดิตในประเทศไทยแทบทั้งหมดได้เปลี่ยนเป็นแบบชิปการ์ดแล้ว ซึ่งรวมไปถึงการปรับเครื่องรับบัตรให้รองรับระบบชิปควบคู่กันด้วย ทำให้การซื้อสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิตที่ร้านค้าต่าง ๆ มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากลครับ สำหรับบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มนั้น ปัจจุบันธนาคารหลายแห่งได้เริ่มทยอยออกบัตรเดบิตที่เป็นชิปการ์ดออกมาบ้างแล้ว และจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามกรอบเวลาที่แบงก์ชาติได้กำหนดไว้ให้การออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 จะต้องเป็นชิปการ์ดเท่านั้นซึ่งรวมไปถึงการปรับเครื่องเอทีเอ็มให้รองรับระบบชิปได้ด้วย
ที่ได้เล่ามาทั้งหมด คงจะทำให้ท่านเข้าใจเกี่ยวกับชิปการ์ดและประโยชน์ของมันมากขึ้น ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่าในอนาคตอันใกล้ เมื่อทั้งบัตรและตู้เอทีเอ็มรองรับชิปได้อย่างแพร่หลาย ผู้ใช้บัตรอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ จะปลอดภัยจากการปลอมแปลงบัตร รวมถึงได้รับความสะดวกจากการใช้บัตรของท่านมากยิ่งขึ้นครับ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย