​คลินิกแก้หนี้ และโครงการ refinance บัตรดี กับการแก้ปัญหาหนี้บัตรอย่างครบวงจร

นายคมน์ ไทรงาม
ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน


แบงก์ชาติให้ความสำคัญอย่างมากกับการแก้ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน

ในภาวะที่ปัญหาหนี้สินของครัวเรือนไทยยังรุนแรง ประกอบกับเศรษฐกิจที่เผชิญกับหลายปัญหาที่อาจทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนในหลายกลุ่มลดลง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นถึงความสำคัญที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนแก้ปัญหาหนี้สิน และถืองานสำคัญในลำดับต้นๆ ที่แบงก์ชาติจะทำในปี 2563 นี้ ซึ่งครอบคลุมหลายมิติ

เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2563 ท่านอาจจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ให้ SME ที่ ธปท. ได้ปรับปรุงและผ่อนปรนกฎเกณฑ์ในหลายเรื่อง อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันสำหรับลูกหนี้ที่สถานะยังดี (Preemptive debt restructuring) และการให้เงินทุนหมุนเวียน (working capital) แก่ผู้ประกอบการ SME เพิ่มเติม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งให้เงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการ เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้คุณภาพดีไหลลงเป็นหนี้เสีย นอกจากนี้แบงก์ชาติยังได้สั่งการให้ สง. ปรับปรุงค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด การปรับวิธีคิดดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้ และค่าธรรมบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต เพื่อลดภาระและลดโอกาสที่ประชาชนจะผิดนัดชำระหนี้โดยไม่จำเป็น

ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลงมาอยู่ที่ 1% ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินของไทย กนง. ได้ให้เหตุผลไว้แถลงข่าวว่า “อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น

มาตรการต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นความพยายามที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชน และอีกมาตรการสำคัญที่จะคุยในคอลัมน์วันนี้คือ การแก้ปัญหาหนี้บัตร


โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 3 กับการแก้หนี้บัตรเสีย

ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมแบงก์ชาติจึงเข้ามาดูปัญหาหนี้บัตร เพราะ หนี้บัตรถือเป็นความจริงของชีวิตที่คนไทยจำนวนมากกำลังเผชิญอยู่ เช่น คุณบิ๊นท์-สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ นางสาวไทยประจำปี 2562 ที่มาช่วยประชาสัมพันธ์โครงการฯ ได้พูดถึงเพื่อนของเธอ ซึ่งเงินเดือนหมดไปกับภาระการผ่อนหนี้บัตรก้อนโต ต้องอาศัยค่าจ้างล่วงเวลา (OT) มาซื้ออาหาร การเปิดคลินิกแก้หนี้จึงเป็นยุทธศาสตร์ลดหนี้เสีย ที่ทำให้คนคนหนึ่งได้ใช้ชีวิตต่อไป

หลังจากที่โครงการฯ ใน 2 เฟสแรกนับตั้งแต่ 1มิถุนายน 2560 ช่วยแก้ปัญหาปรับโครงสร้างหนี้ให้ประชาชนได้กว่า 3 พันคน ครอบคลุมบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดกว่า 13000 ใบ ทั้งนี้โครงการฯ ในเฟส 3 ซึ่งเพิ่งเริ่ม 1 กุมภาพันธ์ 2563 ได้ปรับกฎเกณฑ์ให้สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้บัตรให้คนไทยได้กว้างขึ้นครอบคลุมกรณีหนี้บัตรที่เป็น NPL ทั้งกรณี (1) ยังไม่เข้าสู่กระบวนการศาล (2) เจ้าหนี้ฟ้องแล้วเป็นคดีดำ และ (3) ฟ้องร้องมีคำพิพากษาแล้วเป็นคดีแดง รวมทั้งขยับ NPL Cut off date เป็น 1 มกราคม 2563 เพื่อให้ครอบคลุมหนี้ที่เพิ่งกลายเป็น NPL ก่อนวันปีใหม่ที่ผ่านมา เพื่อรองรับลูกค้าที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ โครงการฯ ในเฟส 3 จะมีการปรับกระบวนการทำงานให้กระชับรวดเร็วขึ้น รวมทั้งจะทำงานเชิงรุกด้วยการเปิดจุดให้บริการในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ รองรับลูกค้าที่ไม่สามารถเดินทางมาที่สำนักงานในช่วงวันทำการปกติ ตลอดจนจะลงพื้นที่ออกไปพบลูกค้าตามสถานประกอบการทั่วประเทศมากขึ้น อีกทั้งโครงการฯจะประสานความร่วมมือกับศาลและกรมบังคับคดีเพื่อหาข้อสรุปในขั้นตอนไกล่เกลี่ย ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงประชาชนผู้เดือดร้อนอีกทางหนึ่ง


ความพิเศษของโครงการคลินิกแก้หนี้

ความพิเศษของโครงการฯ ที่ประชาชนอาจจะยังไม่ทราบมีอย่างน้อย 2 เรื่องที่ช่วยให้การแก้ไขปัญหาหนี้บัตรสำเร็จ

หนึ่ง โครงการคลินิกแก้หนี้มีสถาบันการเงินร่วมเป็นสมาชิกรวม 35 แห่ง ทำให้โครงการฯ กลายเป็น “เครือข่ายที่ช่วยเหลือประชาชนแก้หนี้บัตร” ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ล่าสุดธนาคารออมสินเข้าร่วมเป็นสมาชิกโดยเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI)แห่งแรก อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ไม่ต้องติดต่อ สง. เจ้าหนี้ทีละราย ติดต่อเพียงบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือ SAM เท่านั้น ให้ทำหน้าที่เป็นคนกลางที่ช่วยประสานงานระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ - ซึ่งเป็นบริการฟรี

การให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-stop service) โดย SAM ทำให้การแก้ปัญหาหนี้บัตรที่อาจมีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งการเจรจาแก้ไขหนี้ให้สำเร็จเกิดขึ้นยาก แต่โครงการจะช่วยให้รวมหนี้ให้เบ็ดเสร็จ เจ้าหนี้ที่อยู่ในโครงการแต่ละรายทุกรายจะหยุดทวงหนี้กับลูกหนี้ รวมทั้งลูกหนี้จะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้อีกด้วย

สอง ลูกหนี้จะได้รับเงื่อนไขปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ผ่อนปรนปฏิบัติได้ คือ คิดอัตราดอกเบี้ย 4%-7% ขึ้นอยู่กับรายได้ ระยะเวลาผ่อนชำระนานถึง 10 ปี เทียบกับกรณีไปเจรจากับเจ้าหนี้เดิมอาจถูกเรียกให้จ่ายคืนภายในระยะเวลาสั้นๆ เช่น 6 เดือน การคิดอัตราดอกเบี้ยและการให้ระยะเวลาที่ผ่อนปรนเพียงพอ หมายความว่า ยอดเงินที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือนจะไม่สูงเกินไป เช่น ถ้ามีหนี้ 5 หมื่น ยอดผ่อนต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 600 บาท หรือถ้ามีหนี้ 1 แสนบาท ยอดผ่อนต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 1,200 บาทเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อลูกหนี้ผ่อนชำระเสร็จสิ้นตามสัญญาก็จะยกดอกเบี้ยค้างชำระเดิมให้ทั้งหมด



โครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรดี สำหรับประชาชนที่มีวินัยและประวัติดี

ปกติเมื่อมีการพูดถึงการแก้ไขหนี้เสีย หรือ NPLคำถามที่มักจะได้ยิน คือ ลูกหนี้ที่ประวัติการผ่อนชำระยังปกติ และมีวินัยทางการเงินจะได้รับการช่วยเหลืออย่างไร? ในการแถลงข่าวคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 3 ธนาคารออมสินได้เปิดตัวโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรดีเพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนที่มีวินัยและมีประวัติการผ่อนชำระดี จากที่เดิมที่อาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง 18% หรือ 28% แต่เมื่อย้ายมาอยู่ที่ออมสินแล้ว จะคิดดอกเบี้ยเพียง 8.50-10.50% ตามความเสี่ยง อีกทั้งจะสนับสนุนให้ลูกค้านำเงินที่ประหยัดได้ในแต่ละเดือนจากการรีไฟแนนซ์ไปเก็บออมไว้ เช่น ซื้อสลากออมสินด้วย ดังนั้นโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรดีนอกจากจะช่วยลดภาระประชาชนแล้วยังส่งเสริมการออมสำหรับอนาคตด้วย


ปัจจุบันการคิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับบัตรเครดิต ยังไม่สามารถแบ่งกลุ่มลูกหนี้ตามคุณภาพที่ต่างกันได้ ธปท. จึงพยายามสนับสนุนให้เกิดตลาดรีไฟแนนซ์หนี้บัตรขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ที่มีวินัยและมีประวัติการผ่อนชำระดีมีต้นทุนการใช้บัตรที่ถูกลงเป็นรางวัลสมกับที่พึงจะได้รับ รวมทั้งมีทางเลือกที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหา moral hazard ลูกหนี้ดีเลือกจะผิดนัดชำระหนี้โดยหวังประโยชน์จากการเข้าโครงการช่วยเหลือหนี้เสีย ทั้งนี้ แม้ในปัจจุบันเรายังมีผลิตภัณฑ์รีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตอยู่ไม่มากนัก แต่ในอนาคตเชื่อว่าจะมีผู้ให้บริการนำเสนอผลิตภัณฑ์เข้ามาเพิ่มอย่างแน่นอน

การดำเนินโครงการคลินิกแก้หนี้สำหรับหนี้บัตรเสีย และโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรดีควบคู่กันทำให้การแก้ปัญหาหนี้บัตรเป็นไปอย่างครบวงจร

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย