​ขบวนการแก้จน ตอนที่ 2 : หลักพิชัยยุทธ์

close up hand businessman holding a pencil and point summary report with thailand coin on paperwork

โดยทั่วไปแล้ว แนวทางการแก้จนชัดเจนอยู่ในที คือ การเติมรายได้ให้มากกว่ารายจ่ายและยอดชำระคืนหนี้อย่างสม่ำเสมอ แต่เรื่องง่าย ๆ ในทางทฤษฎีกลับทำไม่ได้ง่ายนักในทางปฏิบัติ จึงขอเล่าประสบการณ์ที่ได้ติดตามคณะทำงานจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ลงพื้นที่เพื่อศึกษาโครงการสกลนครโมเดล ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก พ่อ ๆ แม่ ๆ ในพื้นที่ ภาควิชาการ ภาคการเมือง และส่วนราชการ เพื่อประมวลแนวทางการบริหารจัดการยกระดับรายได้ครัวเรือนละ 10,000 บาทต่อเดือนให้แก่ 500 ครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการซึ่งร้อยละ 90 ของผู้เข้าร่วมทำได้ตามเป้าหมาย เคล็ดลับแห่งความสำเร็จจากสกลนครโมเดลจัดเป็นหลักพิชัยยุทธ์สามประการ ดังนี้

ประการแรก : ไม่เกี่ยงกัน การดำเนินการต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจจากทุกคนโดยแบ่งบทบาทเป็นผู้นำในส่วนที่เกี่ยวข้อง ขุนพลสำคัญ คือ เหล่าคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยในจังหวัดสกลนคร ที่แม้มาจากต่างสถาบัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันในการเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน อาจารย์แต่ละท่านได้ถ่ายทอดความรู้ในทางเทคโนโลยีที่ปรับแต่งให้เหมาะกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ขณะที่ ผู้นำชุมชนรวมถึงพระสงฆ์ได้มีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันซึ่งช่วยรักษาการมีส่วนร่วมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น นอกจากนี้ ภาคการเมืองและส่วนราชการก็สนับสนุนการทำงานเต็มที่

ประการที่สอง : ทำลืมตาย เหล่าผู้ร่วมโครงการได้ใช้คำนี้กับการทำงาน เพราะทุกคนตระหนักดีว่าแม้โจทย์จะเรียบง่ายแต่ต้องอาศัยการลงแรงอย่างหนักหนาสาหัส ทำงานกันชนิดที่เรียกว่าไม่ค่ำไม่เลิก แม้กระทั่งในวันที่คณะฯ ได้ลงดูงาน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอก็ลงติดตามการทำงานตั้งแต่เช้าจรดหัวค่ำ ทำให้ได้เห็นความภาคภูมิใจของเกษตรกรและอาจารย์ที่ร่วมกันสร้างรายได้ โดยรับผิดชอบทั้งส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ ดังนั้น การทำงานจึงต้องดูทั้งในเชิงธุรกิจและการบริหารความเสี่ยง ทั้งในด้านการผลิต ต้นทุนและการตลาด ตามคำขวัญโครงการ ไม่รอ ไม่ขอ พาทำ

ประการที่สาม : ขายความจริง อีกประเด็น คือ ต้องมีความโปร่งใสและความเป็นมืออาชีพในการสื่อสารอยู่บนความจริง และทบทวนถึงข้อผิดพลาด ไม่เอาความสัมพันธ์ส่วนตัวมาบดบังผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริง จะอะลุ่มอล่วยเพื่อรักษาหน้ากันไม่ได้ เห็นการเปิดกว้างทางความคิดที่อาจารย์ในพื้นที่กล้า ให้ความเห็นตรง ๆ กับหัวหน้าโครงการผู้พิจารณาเงินทุน ขณะเดียวกันก็ยอมรับที่จะปรับปรุงการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และเปิดรับองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นกับครัวเรือนอื่นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผล ความยืดหยุ่นบนพื้นฐานของความเป็นจริงเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ

โดยสรุปแล้ว เป้าหมายที่เรียบง่าย ชัดเจน มีพลังและเป็นประโยชน์ต่อครัวเรือน ควบคู่ไปกับกระบวนการทำงานที่ปฏิบัติตามได้จริงตามทักษะความชำนาญของแต่ละภาคส่วน โดยมีกลไกการมีส่วนได้ส่วนเสียที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และนำมาทบทวนการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เป็นหลักพิชัยยุทธ์สำคัญ ที่ผู้ร่วมขบวนการแก้จนทั่วประเทศ ทั้งขุนพลในพื้นที่ เสนาฝ่ายวางแผนจากส่วนกลาง และขุนคลังที่ดูแลการจัดสรรงบประมาณ จะพิจารณานำมาปรับใช้กับการทำงานของตน โดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เป็นที่ตั้ง และขอทิ้งท้ายไว้เป็นข้อสังเกตว่า ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน พ่อ ๆ แม่ ๆในพื้นที่ย่อมรับทราบความเป็นไปของพื้นที่อื่น การทำความดีของผู้ร่วมขบวนการแก้จน ย่อมจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีและตรงกับความคาดหวัง ซึ่งจะช่วยขยายผลหลักพิชัยยุทธ์ที่ถูกพิสูจน์แล้วให้กระจายไปได้ทั่วประเทศ



ผู้เขียน :
ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

คอลัมน์ "บางขุนพรหมชวนคิด" นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย