คลินิกแก้ไขหนี้: แนวการแก้ไขปัญหาหนี้สินส่วนบุคคลแบบครบวงจร

​นางชวนันท์ ชื่นสุข
สายกำกับสถาบันการเงิน

ปัจจุบันสภาพสังคมบริโภคนิยมที่บ่มเพาะให้ผู้คนในสังคมให้คุณค่ากับวัตถุสิ่งของความทันสมัยความหรูหรา สะดวกสบาย เพื่อให้มีหน้ามีตาทัดเทียมกับผู้อื่น ทำให้เกิดพฤติกรรม “ต้องมี ต้องได้ เดี๋ยวนี้” ดังนั้น ประชาชนที่จะมีรายได้ต่ำหรือเงินออมไม่เพียงพอในการซื้อสินค้าและบริการจึงต้องกู้ยืมเงินเพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอยสนองความต้องการของตนเอง โดยหวังว่าจะนำรายได้ในอนาคตมาทยอยผ่อนชาระหนี้ ดังนั้น หากผู้กู้มีวินัยทางการเงินรู้จักบริหารรายรับรายจ่ายให้มีความเหมาะสม การกู้ยืมนั้นก็มิได้สร้างปัญหาแก่ตนเองและคนรอบข้าง กลับเป็นการแสดงถึงเครดิตหรือความสามารถในการจ่ายชาระหนี้ของบุคคลนั้น แต่หากผู้กู้ก่อหนี้โดยไม่มีการจัดการทางการเงินที่ดี นอกจากจะสร้างปัญหากับตนเอง ยังส่งผลกระทบถึงครอบครัว สังคม และท้ายที่สุดระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังที่เราเห็นภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นควบคู่กันไปกับปริมาณหนี้เสียในหลายประเทศ

ตามข้อมูลสถิติพบว่า ผู้กู้ที่มีปัญหาในการจ่ายชาระหนี้นั้นส่วนใหญ่มีหนี้สินคงค้างกับเจ้าหนี้หลายราย ทำให้มีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยและค่าปรับจำนวนสูงรวมทั้งยังถูกติดตามทวงถามหนี้อย่างต่อเนื่อง แม้ลูกหนี้ต้องการกลับตัวกลับใจล้างหนี้ทั้งหมดเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ก็ไม่สามารถทำได้โดยง่ายเนื่องจากต้องเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เป็นรายๆ ไป ซึ่งเจ้าหนี้ทุกรายต้องการได้รับเงินคืนมากที่สุดและเร็วที่สุดจากลูกหนี้ หากเจ้าหนี้รายใดสามารถติดต่อเจรจากับลูกหนี้ได้ก่อนก็จะได้รับชาระหนี้ในส่วนของตน สำหรับหนี้สินที่เหลือของลูกหนี้ยังคงต้องถูกทวงถามและอาจมีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป ดังนั้น หน่วยงานกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินในหลายประเทศจึงสนับสนุนให้มีแนวทางในการจัดการปัญหาหนี้สินของประชาชน ก่อนที่จะลุกลามเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยการส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจร โดยจัดตั้งคลินิกแก้ไขหนี้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1) แก้ไขหนี้ค้างชำระที่ลูกหนี้มีทั้งหมด (Corrective measure) โดยให้เจ้าหนี้ร่วมกันปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ 2) ป้องกันไม่ให้ก่อปัญหาหนี้ ในอนาคต (Preventive measure) โดยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารเงิน การอบรมเพื่อปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย การควบคุมการก่อหนี้เพิ่มเติม อันจะนำไปสู่วินัยทางการเงินที่ดี

จากบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันจึงทำให้แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้มีความแตกต่างกันไปด้วย โดยบางประเทศจะมีหน่วยงานกลางที่เป็นอิสระเป็นผู้ดำเนินการ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างลูกหนี้และสถาบันการเงิน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลี ขณะที่บางประเทศกำหนดให้สถาบันการเงินที่ลูกหนี้มียอดหนี้คงค้างสูงสุดเป็นผู้ดำเนินการ เช่น ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และฮ่องกง นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างเกี่ยวกับประเภทสถาบันการเงิน ประเภทสินเชื่อ และคุณสมบัติของ ลูกหนี้ที่เข้าร่วมในโครงการแก้ไขหนี้ รวมถึงอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาในการจ่ายชำระหนี้ซึ่งแล้วแต่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการจะตกลงร่วมกัน อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ทุกประเทศให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการแก้ไขปัญหาหนี้คือ การให้ความรู้และเสริมสร้างวินัยทางการเงินแก่ประชาชน ทั้งนี้ ประเทศที่มีรูปแบบคลินิกแก้ไขหนี้ที่น่าสนใจเนื่องจากมีความรู้และประสบการณ์ในการแก้ไขหนี้ส่วนบุคคลกว่า 10 ปี และมีสภาพแวดล้อมทางการเงินที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย มีการก่อตั้งองค์กรกลาง Agensi Kaunseling dan Pengurusan Kredit (AKPK) ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือเจรจาแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้ โดยการรวมหนี้สินทุกประเภทของลูกหนี้จากสถาบันการเงินทุกแห่งและจัดทำแผนการชำระหนี้โดยพิจารณาความเหมาะสมของรายได้ที่ลูกหนี้สามารถนามาจ่ายชาระหนี้เป็นหลักทุกสิ้นเดือน AKPK จะรับชำระเงินจากลูกหนี้และนำมาจัดสรรให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้อย่างเท่าเทียมกันตามสัดส่วนของยอดหนี้คงค้าง AKPK จึงเป็น One stop service ในการแก้ไขหนี้ของลูกหนี้ ทั้งนี้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการแก้ไขหนี้จะไม่ได้รับสินเชื่อใหม่ จนกว่าการชำระหนี้ทั้งหมดเสร็จสิ้น รวมทั้งต้องปรับพฤติกรรมการดำรงชีวิตโดยการขายสินทรัพย์ ที่ไม่จำเป็น เช่น บ้าน และรถยนต์ที่มีราคาแพง นอกจากนี้ AKPK ยังทำหน้าที่ให้ความรู้ทางการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างพฤติกรรมและวินัยทางการเงินที่ดีเพื่อป้องกันการก่อหนี้สินล้นพ้นตัว โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา AKPK ได้ให้คำปรึกษาแก่ลูกหนี้มาแล้วกว่า 471,456 ราย มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ 149,429 ราย และมีผู้ที่ได้รับความรู้ทางการเงิน มากกว่า 1,700,000 ราย สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ที่คล้ายกันแต่ลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องประสบปัญหาทางการเงินจากเหตุจำเป็นเท่านั้น เช่น ความเจ็บป่วย การตกงาน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น หากเป็นหนี้สินจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือการพนัน ลูกหนี้จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้

ผลการศึกษาข้างต้น ทำให้เรามีคำตอบแล้วว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สินส่วนบุคคลสามารถเกิดขึ้นได้แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น มิได้ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งลูกหนี้ สถาบันการเงินเจ้าหนี้ และหน่วยงานกลาง ในส่วนของลูกหนี้เองก็ต้องพยายามสร้างวินัยการใช้จ่าย ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ก่อภาระหนี้สินเพิ่มเติมโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะที่สถาบันการเงินต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ และหน่วยงานกลางต้องปฏิบัติงานในฐานะคนกลางอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อให้การแก้ไขหนี้สะดวก รวดเร็ว และราบรื่น

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย