นายกฤษดา หิรัญสิ
ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันโลกของเรามีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมทวีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวนเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ภาวะมลพิษทางน้ำและอากาศ สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ไม่ดี สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากการกระทำของมนุษย์ที่ขาดความรับผิดชอบ และยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือพัฒนาให้ดีขึ้น ทำให้ปัญหาเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง ทั่วโลกจึงหันมาให้ความสำคัญกับการบรรเทาและแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ รวมถึงมีแนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่มีในปัจจุบันอย่างเหมาะสมและรู้คุณค่าโดยไม่ก้าวล่วงการบริโภคทรัพยากรของคนรุ่นต่อไปในอนาคต รวมถึงการดูแลสังคมให้ดีขึ้น
ในมุมของผู้เขียนมองว่า การดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมถือเป็นโจทย์สำคัญ ที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ควรตระหนักถึงความสำคัญและ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการบางแห่งมีการดำเนินการโดยมีเป้าหมายในการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ (zero waste) รวมทั้งมีการส่งเสริมให้ supply chain มีการดำเนินการที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ หนึ่งในผู้เล่นสำคัญที่สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและผลักดันเรื่องดังกล่าว คือ “สถาบันการเงิน” เนื่องจากสถาบันการเงินมีฐานะเป็นตัวกลางทางการเงินที่เป็นกลไกสำคัญของภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดการเติบโต ดังนั้น การนำหลักการเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมาผนวกกับการธนาคาร จึงได้กรอบสมการที่น่าสนใจ คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” + “การธนาคาร” = “การธนาคารที่ยั่งยืน” หรือ “Sustainable Banking” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสถาบันการเงินในการดำเนินธุรกิจที่จะมีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้นได้ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งที่สถาบันการเงินจะสามารถส่งผ่านการพัฒนาที่ยั่งยืนไปยังภาคธุรกิจอีกด้วย
“การธนาคารที่ยั่งยืน” อาจเป็นคำที่ยังไม่ค่อยคุ้นหูในประเทศไทยมากนัก แต่ในต่างประเทศจัดได้ว่าเป็นคำที่คุ้นเคยและถูกกล่าวถึงมานานพอสมควร ทั้งนี้ ผู้อ่านอาจมีคำถามว่าการธนาคารที่ยั่งยืน มีการดำเนินการอย่างไรและมีประโยชน์เช่นไร ผู้เขียนขอแชร์ประสบการณ์จากการศึกษาแนวทางของสากลโดยขอสรุปเป็นกรอบแนวคิดเกี่ยวกับการธนาคารที่ยั่งยืน คือ การนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เข้ามาผนวกในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ทั้งในลักษณะการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมผ่านการดำเนินงานภายในของสถาบันการเงินเอง เช่น การบริหารจัดการภายในองค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การดูแลพนักงาน นอกจากนี้ สถาบันการเงิน ยังสามารถทำหน้าที่ในการส่งผ่านการพัฒนาที่ยั่งยืนไปยังภาคธุรกิจ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่สถาบันการเงินจะมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ เช่น การที่สถาบันการเงินให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจอย่างรับผิดชอบโดยมีกระบวนการพิจารณาสินเชื่อที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และมีธรรมาภิบาลที่ดีในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ
ในส่วนของประโยชน์ของการธนาคารที่ยั่งยืนนั้น ผู้เขียนเห็นว่า นอกเหนือจากที่สถาบันการเงิน จะเป็นผู้ที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านต่าง ๆ ให้แก่สถาบันการเงินได้ เช่น การลดความเสี่ยงจากความเสียหายของการปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม กรณีที่โครงการดังกล่าวถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากผู้ได้รับผลกระทบ จนทำให้โครงการดังกล่าวหยุดชะงักหรือถูกยกเลิก ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพสินทรัพย์ (การให้สินเชื่อ) ของสถาบันการเงินด้วย หรือแม้กระทั่งมีประโยชน์ต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของสถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยส่งผลต่อความสนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศที่กำลังสนใจลงทุนในบริษัทจดทะเบียน ที่มีการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย
เมื่อมองกลับมายังภาคการธนาคารของไทยในการดำเนินการเรื่องการธนาคารที่ยั่งยืนนั้น จะเห็นว่า สถาบันการเงินของไทยได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้กันบ้างแล้ว ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีแนวทาง ในการดำเนินการในเรื่องนี้ที่แตกต่างกัน เช่น สถาบันการเงินส่วนใหญ่จะมีการดำเนินการในมุมของการดำเนินงานภายในองค์กรเอง อาทิ การลดการใช้พลังงาน การลดการใช้กระดาษ การดูแลพนักงาน อีกทั้ง มีการส่งผ่านการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการท้ากิจกรรมเพื่อสังคมหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “CSR” เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน ขณะที่สถาบันการเงินบางแห่งได้มีการปล่อยสินเชื่อสีเขียว (green lending) แก่ภาคธุรกิจที่มีนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น สินเชื่อพลังงานสะอาด ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ ถือเป็นการริเริ่มที่ดีที่จะสามารถพัฒนาในก้าวต่อ ๆ ไปในเรื่องนี้
ท้ายนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า การธนาคารที่ยั่งยืนจะเป็นฟันเฟืองสำคัญตัวหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถมีการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ความตระหนักถึงความสำคัญและ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันบนถนนแห่งความยั่งยืนสายนี้ …
…. โปรดติดตามเรื่องราวของการธนาคารที่ยั่งยืน ซึ่งผู้เขียนจะรวบรวมแนวคิดหรือแนวทาง ในการดำเนินการที่จะก้าวไปข้างหน้าในฉบับต่อ ๆ ไปครับ