​ส่องมุมมองนักลงทุนต่างชาติผ่าน FDI Confidence Index และนัยต่อ FDI ในไทยปี 2018

​นางสาวธันย์ชนก เชยคาแหง
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

FDI Confidence Index เป็น ดัชนีที่สำรวจความเห็นของผู้บริหารระดับสูงจากกว่า 500 บรรษัทข้ามชาติชั้นนำทั่วโลกถึงแนวโน้มการลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยในปี 2018 นี้ ไทยไม่ติดอันดับใน Top 25 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกระแสกีดกันทางการค้าที่ค่อนข้างแรงในช่วงต้นปีส่งผลกระทบต่ออันดับในดัชนีของประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย ในอีกมุมหนึ่งอาจสะท้อนมุมมองของนักลงทุนที่เห็นว่าไทยคงต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะด้านนวัตกรรม และเสถียรภาพทางการเมืองใน ประเทศ

หนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำซึ่งส่วนหนึ่งมา จากการลงทุนโดยตรงของต่างชาติที่มีมูลค่าไม่สูงเท่ากับในอดีต เป็นผลมาจากปัญหาค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงานเนื่องจากไทยเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุ ปัญหามหาอุทกภัยปี 2011 และปัญหา เสถียรภาพทางการเมืองซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความ เชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

โดยทั่วไป เรามักวิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนโดยตรงในไทยจากข้อมูลขอรับการส่งเสริมการลงทุน ของ BOI แยกรายสัญชาติ และข้อมูล FDI ของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งสะท้อนกระแสเงินที่ไหลเข้าประเทศจริงๆ แต่วันนี้ผู้เขียนจะขอนำเสนอการดูข้อมูลแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศผ่าน FDI Confidence Index ซึ่งน่าจะสะท้อนมุมมอง เบื้องต้นก่อนการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในประเทศใด ประเทศหนึ่งจริงๆ ซึ่งข้อมูลนี้จัดท่าโดยบริษัท A.T. Kearney ของสหรัฐอเมริกาที่สำรวจความเห็นของ ผู้บริหารระดับสูงจากกว่า 500 บรรษัทข้ามชาติชั้นนำทั่วโลกถึงแนวโน้มการลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทมีการทดสอบดัชนีดังกล่าวกับข้อมูลเม็ดเงินการลงทุนจริงในประเทศที่ติดอันดับการสำรวจ พบว่าดัชนีซึ่งจัดทำตอนต้นปีนี้สามารถท่านายแนวโน้ม FDI ที่ สอดคล้องกับข้อมูลจริงในสิ้นปีนั้นๆ ได้ดีในระดับหนึ่ง

เนื่องจาก FDI เป็นการลงทุนระยะยาว ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกประเทศที่จะลงทุนจึงไม่ได้ ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ที่เอื้อต่อการลงทุนด้วย อาทิ ประสิทธิภาพของกฎเกณฑ์ อัตราภาษีที่โปร่งใส คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน ความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว (Advanced Economies: AEs) มักจะครองอันดับต้นๆ ทุกปี นอกจากนี้นักลงทุนยังให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านการเมือง ทั้งเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ และปัจจัยที่เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการค้า เช่น กระแสการกีด กันทางการค้า และผลของข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

สำหรับในปีนี้ สหรัฐฯ ยังคงครองอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 สะท้อนถึงความน่าสนใจของ สหรัฐฯ ทั้งขนาดของตลาดและเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี รวมถึงแรงจูงใจจากอัตราภาษีนิติบุคคลที่เพิ่งปรับลดลงในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ นโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศผ่านนโยบายกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น มีส่วนท่าให้บรรษัทข้ามชาติของประเทศต่างๆ พิจารณาเข้าไปลงทุนในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยมีข้อสังเกตว่าประเทศพัฒนาแล้วล้วนมีอันดับ FDI Confidence Index เพิ่มขึ้นในปีนี้ เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ประกอบกับพื้นฐานความได้เปรียบทางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ดีกว่า

ขณะที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EMs) กลับมีอันดับตกลงเกือบทั้งหมด (รูปที่ 1) แม้กระทั่งจีนซึ่งเป็นประเทศกลุ่ม EMs ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดก็ตกลงมาอยู่ในอันดับ 5 จากอันดับ 3 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับต่ำที่สุดที่จีนเคยได้ตั้งแต่จัดทำดัชนีมา เหตุผลหนึ่งมาจากความน่าสนใจของบรรยากาศทางธุรกิจที่ลดลง ทั้งจากนโยบายใหม่ที่ต้องการปิดระบบ Virtual Private Networks (VPNs) ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีน ทำให้การสื่อสารระหว่างประเทศรวมถึงการเข้าถึงสื่อออนไลน์ต่างชาติเป็นไปได้ยากขึ้น และความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการยกเลิกวาระการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศ ซึ่งกระแสการลงทุนโดยตรงของโลกดังกล่าวสอดคล้องกับรายงาน World Investment Report 2018 ของ UNCTAD ที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ซึ่งมองว่าแนวโน้มการลงทุนโลกในปีนี้จะกระเตื้องขึ้นบ้างในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่จะค่อนข้างทรงตัวในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ จากปัจจัยเศรษฐกิจและสถาบันข้างต้น อย่างไรก็ดี การลงทุนระหว่างกันภายในภูมิภาคเอเชียยังคงแข็งแกร่ง

ย้อนกลับมาดูอันดับ FDI Confidence Index ของไทยพบว่ามีทั้งช่วงที่ไทยติดอันดับและไม่ติดอันดับ Top 25 อย่างเช่น ช่วงปี 1998 -2005 ที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย จะเห็นว่าไทยอยู่ใน Top 25 มาโดยตลอด แต่ในช่วงปี 2014-2015 ไทยกลับหลุดไปจากจอเรดาห์ของนักลงทุน ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่อเป็น 300 บาท/วัน ทั่วประเทศ และมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ต่อมาในปี 2016-2017 ไทยเริ่มกลับมาอยู่ในจอเรดาห์ของนักลงทุนต่างประเทศอีกครั้ง โดยเหตุผลหลักๆ มาจากยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับธุรกิจต่างชาติที่มาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve Industries) รวมถึงแรงส่งจากการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนร่วมกับรัฐบาล (Public-Private Partnerships: PPPs) ในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และที่น่าสนใจคือเมื่อเปรียบเทียบข้อมูล FDI Confidence Index กับเม็ดเงินลงทุนโดยตรงสุทธิผ่านข้อมูลดุลการชำระเงินของ ธปท. พบว่ามีความสัมพันธ์กันพอสมควร (รูปที่ 2)

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดที่มีการสำรวจนักลงทุนเมื่อต้นปี 2018 กลับพบว่าไทยหลุดหายไปจากจอเรดาห์ โดยไม่ติดอันดับ Top 25 อีกครั้ง ทั้งที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันการลงทุนผ่านเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) อย่างเข้มข้น จึงเป็นค่าถามสำคัญว่าแนวโน้ม FDI ของไทยในปีนี้จะเป็นเช่นใดกันแน่

การที่ไทยไม่ติดอันดับ Top 25 ในปีนี้อาจสะท้อนมุมมองของนักลงทุนที่เห็นว่าไทยคงต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะด้านนวัตกรรม และเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศที่แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่นักลงทุนยังคงจับตามองความชัดเจนของ timeline การเลือกตั้ง นอกจากนี้ การที่ไทยตกขบวนการลงนามใน Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) หรือ ข้อตกลง TPP เดิมที่เดินหน้าต่อโดย 11 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก และอเมริกา ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนลดลงในปีนี้

แต่มีข้อสังเกตว่าการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงต้นปีซึ่งมีกระแสกีดกันทางการค้าสูง โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออันดับ FDI Confidence Index ของประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย อย่างไรก็ดี ล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีเกินคาดถึงร้อยละ 4.8 ในไตรมาส 1 เป็นการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 20 ไตรมาส และบรรยากาศธุรกิจที่ดีเอื้อต่อการลงทุน เห็นได้จากรายงาน Doing Business 2018 ของ World Bank ที่จัดให้ไทยอยู่ในอันดับ 26 จาก 190 ประเทศทั่วโลกที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดีขึ้นจากอันดับ 46 ในปีที่แล้ว ไทยจึงเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีพัฒนาการมากที่สุดในรอบ 2 ปี นอกจากนี้ อีกหนึ่งพัฒนาการสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ คือ การประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติ EEC เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งเป็นก้าวย่างสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และเป็นความหวังสำคัญที่น่าจะช่วยดึงดูด FDI ให้เข้ามาได้มากกว่ามุมมองนักลงทุนที่ให้ไว้เมื่อตอนต้นปี ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม 2018 มูลค่า FDI จากข้อมูลดุลการชำระเงินของ ธปท. ไหลเข้าไทยสุทธิประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน และแม้จะยังไม่เห็นสัญญาณการชะลอตัวของ FDI แต่ก็ไม่อาจด่วนสรุปได้ เพราะกระแสการลงทุนค่อนข้างผันผวน สุดท้ายแล้ว FDI ในไทยจะสอดคล้องกับมุมมองนักลงทุนที่ให้ไว้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่การเดินหน้าพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งคุณภาพของปัจจัยสถาบัน เพื่อให้ไทยสามารถอยู่รอดในโลกการลงทุนที่มีความผันผวนและซับซ้อนได้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย