​ขบวนการแก้จน ตอนที่ 3 : สรรพาวุธพร้อม

ขบวนการแก้จนระดมทัพจากทุกภาคส่วน และมีหลักคิดในการดำเนินการซึ่งถอดบทเรียนมาจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ดังที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกันไปแล้วในตอนก่อนหน้า แต่การจะเอาชนะศึกต้องพึ่งพายุทโธปกรณ์เป็นสำคัญฉันใด การขจัดความยากจนก็ต้องอาศัยเครื่องมือฉันนั้น อาวุธหลักในการแก้จนซึ่งได้รับการพิสูจน์มาแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะในตัวอย่างที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เช่น โมเดลการแก้จนแบบจีน คือ การใช้ประโยชน์ข้อมูลเชิงลึกอย่างเต็มที่

Businessman holding creative light bulb with growth graph and banking icons. Financial innovation technology develop new products and services that enhance successful and profit in global business.

สำหรับประเทศจีนแล้ว มีการมอบหมายเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมรับผิดรับชอบกับเป้าหมายการก้าวพ้นความยากจนของแต่ละครัวเรือนในพื้นที่ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าถึงเข้าใจคนจนแล้วจะสามารถใช้งานข้อมูลทุกมิติเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด โดยจะต้องติดตามการดำเนินการจนกว่าจะลุล่วง สำหรับไทยอาวุธสำคัญ คือ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า TPMAP ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินนโยบาย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ NECTEC ดูแลระบบ และกระทรวงมหาดไทยถือสิทธิ์การใช้งานข้อมูลในแต่ละพื้นที่ในเชิงลึก

ระบบ TPMAP พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และมีการใช้งานโดยหลายหน่วยงานในพื้นที่ เช่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และ สำนักงานแรงงานจังหวัด เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสได้สัมผัสการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่โดยตรงและได้เห็นการใช้ประโยชน์ตามหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสอบทานเพื่อพัฒนาคุณภาพของฐานข้อมูลไปในตัว สำหรับผู้ดำเนินนโยบายในส่วนกลาง ได้ทดลองโครงการ Sandbox เชื่อมโยงข้อมูลแบบปกปิดตัวตนในบางจังหวัดเพื่อศึกษาความยากจนควบคู่กับสถานะหนี้สิน พฤติกรรมการเพาะปลูก และการรับเงินช่วยเหลือด้านเกษตร ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับโมเดลแก้จนแบบจีน โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างพัฒนาความร่วมมือให้มีการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลภายใต้ธรรมาภิบาลที่รัดกุม เพื่อศึกษาวิจัยออกแบบนโยบายให้เกิดผลจริงในเชิงลึกและในวงกว้าง

เทียบเคียงกับโมเดลการแก้จนแบบจีนแล้ว ขั้นตอนต่อไปหลังชี้ให้เห็นปัญหา คือ การมอบเป้าหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมรับผิดชอบกับการแก้ปัญหา และการสนับสนุนที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละครัวเรือน เพื่อมุ่งสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยในหลายครั้งเราจะได้ยินคำถามจากคนในพื้นที่ว่าภาครัฐจะให้ปลูกพืชใด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วภาครัฐเองก็ไม่สามารถคาดการณ์ความต้องการของตลาดได้ว่าพืชใดจะขาดแคลนจนราคาเพิ่มสูงขึ้น หรือพืชใดจะมีปริมาณล้นตลาด จึงน่าสังเกตว่า การร่วมรับผิดรับชอบของภาครัฐควรมีขอบเขตแค่ไหน จะล่วงไปถึงการเสนอให้ผู้มีรายได้น้อยปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปในทิศทางที่มีความไม่แน่นอนอยู่มากได้อย่างไร จึงเป็นช่องว่างเชิงนโยบายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาควิชาการ ที่แม้อาจจะอยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนของตลาดเช่นเดียวกัน แต่ก็มีความชำนาญในทางเทคนิคและการตลาดมากกว่าภาครัฐ อีกทั้งธุรกิจก็ต้องพึ่งพาความเข้มแข็งในพื้นที่เป็นแหล่งปัจจัยการผลิตและตลาดด้วย

โดยสรุปแล้ว ขบวนการแก้จนที่มีกระบวนทัพขนาดใหญ่ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ มีแผนงานหลักพิชัยยุทธ์เป็นรูปธรรม มีสรรพาวุธพร้อมทั้งข้อมูลชี้เป้าหมายและเครื่องมือสนับสนุนการดำรงชีพในมิติต่าง ๆ หากแต่คนทำงานเองก็อาจท้อถอยได้ แผนเองก็ต้องปรับเปลี่ยนตามความเป็นจริง และข้อมูลเองก็อาจคลาดเคลื่อน ถึงที่สุดแล้ว หัวใจของการแก้จน คือ การมีส่วนร่วมของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะเป็นทั้งมาตรวัดความสำเร็จเมื่อหายจน และเป็นหนทางให้ไม่กลับมาจนอีก


ผู้เขียน :
ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 12 มีนาคม 2565



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย