​การลงทุนภาครัฐ…จุดสตาร์ทเศรษฐกิจไทย

นายธิติ เกตุพิทยา


ในช่วงปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า การส่งออกอ่อนแรงตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเปราะบาง ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งจากของโลกที่ประเทศเศรษฐกิจหลักพึ่งพาการนำเข้าลดลง และของไทยเองที่ภาคอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญไม่มีการลงทุนในสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ขณะที่ครัวเรือนก็จับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังเพราะมีการก่อหนี้สะสมไว้สูง การส่งออกและการบริโภคครัวเรือนที่อ่อนแรงลงมีส่วนทำให้นักธุรกิจชะลอการลงทุนออกไปก่อน ดังนั้น หลายฝ่ายจึงฝากความหวังไว้ที่ภาครัฐที่จะเร่งใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อจุดประกายให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่น และเรียกความเชื่อมั่นภาคเอกชนให้กลับคืนมา

ภาครัฐเองตระหนักดีถึงบทบาทสำคัญดังกล่าว จึงพยายามออกมาตรการเร่งรัดการใช้จ่าย ทั้งการเร่งให้หน่วยงานรัฐทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 และ 2 โดยเน้นการลงทุนในโครงการซ่อมแซม ก่อสร้างขนาดเล็กเพื่อให้เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจได้เร็ว รวมถึงการใช้มาตรการกึ่งการคลังช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม อาทิ มาตรการเพิ่มรายได้และดูแลปัญหาหนี้ของเกษตรกร มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือ SMEs ความพยายามของรัฐบาลเริ่มเห็นผล การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐบาลที่ทำได้ดีขึ้นในเดือน ก.พ. และ มี.ค. 58 ซึ่งถ้าสามารถทำได้ต่อเนื่องก็น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐยังจำเป็นต่อการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศในระยะยาว จากรายงานของ IMD พบว่า ไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค อาทิ มาเลเซีย อุปสรรคที่สำคัญ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สุขภาพ และการศึกษา อุปสรรคเหล่านี้ล้วนสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่ต้องวางนโยบายในการแก้ปัญหาให้ตรงจุดและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา รัฐบาลปัจจุบันได้ตระหนักถึงบทบาทในระยะยาวนี้ เห็นได้จาก

(1) การวางกรอบเพื่อเพิ่มสัดส่วนงบลงทุนในงบประมาณปี 2559 จากร้อยละ 17.5 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 20 ของวงเงินงบประมาณปี 2559 ซึ่งนับว่าสูงกว่าจากค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ร้อยละ 16.3

(2) แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ครม. ได้อนุมัติแผนระยะ 8 ปี (2558-65) วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของ 59 โครงการเร่งด่วน วงเงิน 8.5 แสนล้านบาท (ตามตาราง) โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 นี้ นอกจากนี้ โครงการรถไฟตามความร่วมมือกับจีนและญี่ปุ่นมีความชัดเจนมากขึ้น โดยแผนการลงทุนระยะยาวที่เป็นรูปธรรมเช่นนี้จะช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพรวมการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งในประเทศและระหว่างภูมิภาค และการเชื่อมโยงไปยังยุทธศาสตร์การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนวางแผนการลงทุนในอนาคตได้อย่างมั่นใจขึ้น

หากรัฐทำได้ตามแผนฯนี้ก็จะช่วยลดต้นทุนด้าน logistics ของประเทศลงได้มาก เพราะกว่าครึ่งเป็นการลงทุนทางรางซึ่งมีต้นทุนการขนส่งอยู่ที่ 0.93 บาทต่อตัน-กม. ต่ำกว่าต้นทุนการขนส่งทางถนนเกือบ1 เท่า

(3) การเดินหน้าปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้ตอบสนองพันธกิจหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการเร่งแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนสูง และการลดทุจริตคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเริ่มนำสัญญาคุณธรรม (Integrity Pact) และมาตรฐานความโปร่งใสของ CoST มาใช้กับโครงการนำร่อง เช่นโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งหากการปฏิรูปทำได้ตามแผนจะช่วยให้การลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่เป็นครึ่งหนึ่งของการลงทุนภาครัฐมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าขึ้น

อาจพอสรุปได้ว่า ความหวังจากการลงทุนภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ติดขัดมาพักใหญ่เริ่มเห็นผล ขณะที่ในระยะยาวแผนการลงทุนโครงการด้านคมนาคมขนส่งก็เป็นรูปธรรมขึ้น เช่นเดียวกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจก็กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายความริเริ่มด้านนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดัน โดยเฉพาะการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การตั้งเป้างบลงทุน R&D ของประเทศในปี 2559 ให้ได้ 1% ของ GDP เพิ่มจากปัจจุบันที่ 0.47% และการเร่งผลักดันนโยบาย Digital Economy หากรัฐบาลสามารถกำหนดทิศทางนโยบายและ Action plan ที่ชัดเจนเช่นเดียวกับการขับเคลื่อนแผนด้านคมนาคมขนส่ง จะช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ มีบทบาทร่วมยกระดับศักยภาพประเทศให้สามารถแข่งขันได้โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในอนาคต รัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกำหนดเป้าหมายภาพรวมของประเทศให้เป็นรูปธรรมและบรรลุได้จริง โดยมียุทธศาสตร์และ Action plan ในแต่ละด้านที่สามารถติดตามความคืบหน้าได้ รวมถึงต้องมีการสื่อสารให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้าใจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศเพื่อช่วยกระตุ้นให้เครื่องยนต์อื่นกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย