นางสาวสุชานัน จุนอนันตธรรม
ผู้ที่ติดตามข่าวในหน้าเศรษฐกิจการเงินอาจจะทราบว่าสภาพคล่องระบบธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ในปัจจุบันมีแนวโน้มตึงตัวสูงในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนของสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินของระบบ ธพ. หรือที่เรียกกันว่า LDR (Loan-to-deposit ratio) ได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนล่าสุด ณ เดือนกันยายนอยู่ที่ 95.5% เพิ่มขึ้นจาก 93.1% ณ สิ้นปี 2555 ซึ่งในวงการธนาคารนั้นใช้ LDR เป็นเครื่องมือหนึ่งในการวัดสภาพคล่องของธนาคาร ว่าทุกบาทของเงินฝากนั้น หลังจากหักสินเชื่อไปแล้วสามารถเก็บไว้เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องได้เป็นสัดส่วนเท่าใด
การเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของ LDR ทำให้เกิดคำถามว่าเหตุใดปริมาณเงินฝากในระบบจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นตามปริมาณสินเชื่อ ทั้งที่ในหลักการนั้น ระบบ ธพ. สามารถสร้างปริมาณเงินฝากใหม่ในระบบเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้แทบจะไม่มีขีดจำกัด เพราะการปล่อยสินเชื่อทุกครั้งก็เป็นการปล่อยสภาพคล่องให้กับผู้กู้ ซึ่งก็น่าจะกลายเป็นเงินฝากก้อนใหม่ที่กลับเข้าสู่ระบบ มิใช่หรือ?
คำถามนี้ James Tobin ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลได้เคยตอบไว้แล้วเมื่อครึ่งทศวรรษก่อนว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่สินเชื่อใหม่จะสร้างเงินฝากใหม่ในปริมาณที่ลดลง เนื่องจากภาคธุรกิจและครัวเรือนนั้นก็มีสิทธิที่จะเลือกถือสินทรัพย์ในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินฝากได้ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้น หากเรามองงบดุลรวมของระบบ ธพ. ก็ไม่น่าแปลกหากปริมาณสินเชื่อและเงินฝากจะไม่มีความสัมพันธ์กันแบบหนึ่งต่อหนึ่ง
ในกรณีของประเทศไทยที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำต่อเนื่องมาระยะหนึ่ง ภาคครัวเรือนก็ได้มีความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน และกองทุนรวมซึ่งมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าแทนมากขึ้น รวมถึงความนิยมซื้อทองคำเก็บออมไว้อีกทางหนึ่ง ทำให้ความต้องการถือเงินฝากของภาคครัวเรือนลดลง โดยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ทางการเงิน (เทียบกับประมาณ 60% เมื่อสิ้นปี 2546)
การลดลงของความต้องการถือเงินฝากเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราเห็นภาวะการแข่งขันทางด้านราคาเพื่อระดมเงินฝากของ ธพ. ที่รุนแรงขึ้นในปัจจุบัน โดย ธพ. หลายแห่งออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษที่มีดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากระยะเวลาปกติอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงสภาพคล่องให้กลับเข้ามายังภาค ธพ. และรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ สะท้อนจากดอกเบี้ยจ่ายเงินฝากเฉลี่ยของ ธพ. (Effective deposit rate) ที่ยังทรงตัวในช่วงสองปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับลงก็ตาม
นอกจากนี้ ในระยะหลัง ธพ. ไทยได้มีแนวโน้มกู้ยืมจากผู้มีถิ่นฐานอยู่ต่างประเทศ (Non-Residents) เพิ่มมากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ประการหนึ่งเพื่อสนองความต้องการของลูกค้าผู้ส่งออกในการทำธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ สรอ. ล่วงหน้า ซึ่งการที่ ธพ. มีภาระต้องส่งมอบเงินบาทในอนาคต ทำให้จำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงด้วยการ Hedge และขายดอลลาร์เพื่อซื้อบาทในตลาด Spot และส่งผลทางอ้อมทำให้ปริมาณเงินฝากสกุลบาทในระบบลดลงได้เช่นกัน เนื่องจาก หาก ธพ. ขายเงินดอลลาร์ สรอ. ในตลาด Spot ให้กับภาคครัวเรือนหรือธุรกิจนอกภาค ธพ. ภาคครัวเรือนหรือธุรกิจดังกล่าวก็จะต้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากในสกุลบาท ดังนั้น เมื่อดูหนี้สินในภาพรวมของ สง. ทั้งระบบก็จะพบว่าปริมาณเงินฝากรวมลดลง และถูกแทนที่ด้วยการกู้ยืมเงินดอลลาร์ สรอ.
สำหรับแนวโน้มสภาพคล่องในระยะต่อไป เมื่อมองทางฝั่งสินเชื่อ แม้ ธพ. หลายแห่งยังคงรักษาเป้าการขยายตัวของสินเชื่อในระดับสูง แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่สินเชื่ออาจจะเริ่มชะลอตัวลงบ้าง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกที่อาจช่วยให้อุปสงค์และอุปทานของสินเชื่อปรับตัวเข้าสู่ระดับที่สมดุลมากขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจริง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยอื่นๆ อาทิ อัตราผลตอบแทนตลาดพันธบัตรและกองทุนรวมที่อาจจะยังผันผวน และโน้มสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หาก Fed จะเดินหน้าลดธุรกรรม QE ในระยะต่อไป ก็อาจเป็นปัจจัยที่กระทบสภาพคล่องของระบบ ธพ. ได้เช่นกัน
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย