ดร.จิตเกษม พรประพันธ์
ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
ในรอบเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องหลังความสำเร็จทางเศรษฐกิจย่อมหนีไม่พ้นปัจจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ หรือแรงงานไทย แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างคู่พิพาทหลักคือประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนนั้นนำมาสู่ความไม่แน่นอนในตลาดการค้าโลก จนส่งผลกระทบโดยตรงมาที่ภาคการส่งออกไทยและส่งผ่านมายังการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ทำให้เราเห็นภาพการจ้างงานในสาขาดังกล่าวปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาสามไตรมาสแรกของปีนี้ อีกทั้งกระแสข่าวการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรม การเปลี่ยนสัญญาการจ้างงานเพื่อให้ลูกจ้างทำงานไม่เต็มเวลา รวมถึงการเลิกจ้างคนงาน ทำให้เกิดความกังวลเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือวิกฤตที่บางกลุ่มพูดกัน ถึงแม้ว่าตัวเลข GDP ซึ่งสะท้อนการกระจายตัวของเศรษฐกิจปีนี้จะต่ำลงกว่าปีก่อน แต่ตัวเลขการขยายตัวที่ระดับเกือบร้อยละสามก็ยังนับว่ามีการขยายตัว โดยได้รับแรงหนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยว สอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานในภาคบริการไม่รวมภาคการค้าและก่อสร้างที่ยังอยู่ในระดับสูงเกือบที่สุด ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย
เพื่อให้เห็นภาพปัจจุบันของตลาดแรงงานไทยในรายละเอียด ขอหยิบยกเครื่องชี้ด้านตลาดแรงงานไทยในหลายมิติดังแสดงในรูปที่ 1 ประกอบด้วยเส้นใยแมงมุมสี่เส้นแทนข้อมูลแรงงานรายไตรมาสตั้งแต่ไตรมาสสี่ปี 2561 ถึงไตรมาสสามปี 2562 สะท้อนสถานการณ์ตลาดแรงงานไทยในมิติต่าง ๆ รวม 11 ด้านย่อย โดยภาวะตลาดแรงงานไทยในไตรมาสที่สามปรับลดลงจากช่วงก่อนหน้าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในด้านที่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยห้าปี คือ การมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่ปรับลดลงมาก สะท้อนการออกนอกกำลังแรงงานของประชากรในวัยทำงาน ซึ่งมีสาเหตุหลัก คือ การเกษียณอายุ พักผ่อน เรียนหนังสือ และ ทำงานบ้าน อันอาจเกิดมาจากการว่างงานเป็นระยะเวลานานจึงท้อถอยและหยุดหางานได้เช่นกัน และ จำนวนผู้ทำงานล่วงเวลาซึ่งปรับลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตมาก แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการใช้กำลังการผลิตสินค้าลดลง และสะท้อนภาวะที่ตลาดแรงงานคลายตัวลงหลังตึงตัวอย่างต่อเนื่องมาในอดีต
หลังประเมินภาวะตลาดแรงงานในปัจจุบันแล้ว ขอชวนทุกท่านมามองย้อนกลับไปในแต่ละยุคสมัยของตลาดแรงงานไทยในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มจาก 1) ยุคที่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมขับเคลื่อนตลาดแรงงาน จากการส่งออกที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวิกฤตการณ์การเงินโลก หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ 2) ยุคที่การจ้างงานในภาคบริการเป็นแรงส่งหลักแทนที่ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์โลกที่ปรับลดลงหลังเกิดวิกฤต โดยจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นในภาคการผลิต แต่ก็ถูกดูดซับอย่างรวดเร็วด้วยการจ้างงานในภาคบริการที่เพิ่มขึ้น จนทำให้ตัวเลขจำนวนผู้ว่างงานไทยทำสถิติต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ก่อนน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งหลังน้ำท่วมใหญ่เราเข้าสู่ยุคที่ 3) ยุคที่มีการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมภายในประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และการขยายตัวของภาคเกษตร โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งมาตรการรถยนต์คันแรกและมาตรการจำนำข้าว ถัดจากนั้นเป็นยุคที่ 4) ยุคที่ภาคบริการขยายตัวตามการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว จึงสามารถรองรับแรงงานที่ไหลกลับออกจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรมได้บางส่วนหลังผลกระตุ้นของมาตรการภาครัฐหมดลง แต่ตลาดแรงงานไทยเริ่มเห็นการปรับเพิ่มขึ้นบ้างของจำนวนผู้ว่างงานและเริ่มตระหนักถึงการก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยเห็นได้จากตัวเลขผู้อยู่นอกกำลังแรงงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และ 5) ยุคที่ตลาดแรงงานไทยมีความตึงตัวทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2560 - 2561 จำนวนผู้ว่างงานจึงปรับลดลง และยิ่งไปกว่านั้น ตลาดแรงงานมีความตึงตัวจนสามารถดึงดูดให้ผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน อาทิ ผู้สูงอายุกลับ เข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง ก่อนที่พิษความขัดแย้งทางการค้าโลกจะบั่นทอนตลาดส่งออกไทยให้ซบเซาและกระทบการจ้างงานดังที่แลกเปลี่ยนมุมมองไปแล้วข้างต้น
บทเรียนสำคัญที่เราค้นพบจากการทบทวนพัฒนาการตลาดแรงงานไทยในเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา คือ ตลาดแรงงานไทยมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอยู่มาก เราจึงได้รับผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบจากการส่งออกสินค้าและบริการมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานไทยมีความยืดหยุ่นจึงเห็นการเคลื่อนย้ายทั้งระหว่างภาคเศรษฐกิจ คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคเกษตร รวมถึงมีการเคลื่อนย้ายระหว่างผู้มีงานทำ ผู้ว่างงานและ ผู้อยู่นอกกำลังแรงงานอย่างต่อเนื่อง
ขอส่งท้ายบทความในวันนี้ ด้วยการชวนทุกท่านมาร่วมกันมองไปข้างหน้า แรงงานไทยจะปรับตัวอย่างไรภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังไม่น่าไว้วางใจจากกระแสการค้าโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ โดยผู้เขียนขอเสนอให้ร่วมกันวางแผนทั้งในเชิงรับ คือ การสนับสนุนให้แรงงานเข้าร่วมโครงข่ายคุ้มครองทางสังคม อาทิ ระบบประกันสังคม ซึ่งจะให้สิทธิประโยชน์ในยามว่างงาน ในยามเจ็บป่วย และในยามชราภาพ จึงอาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้บ้าง และต้องกำหนดแนวทางชีวิตให้สามารถเอาตัวรอดได้ในยุคที่คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้นจึงต้องจัดสรรเงินทุนให้เพียงพอตลอดช่วงชีวิต นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญกับแนวทางเชิงรุก คือ การยกระดับพัฒนาทักษะความสามารถของตน โดยเฉพาะกระบวนการ Upskill/Reskill เพื่อให้แน่ใจว่าเราก้าวทันกับยุคดิจิทัลในวันหน้าเมื่อหุ่นยนต์จะมาแย่งงานเราแล้ว เราจะปรับบทบาทเป็นผู้บังคับควบคุมหุ่นยนต์ มากกว่าที่จะถูกหุ่นยนต์แทรกตัวก้าวขึ้นมาเป็นตัวละครเอกในตลาดแรงงานอย่างที่หลาย ๆ ภาคส่วนกำลังกังวลกันอยู่ทุกวันนี้
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย