ในบทความ 2 ตอนก่อนหน้าของซีรีย์วิวัฒนาการของธนาคารกลางนั้น ท่านผู้อ่านได้ทำความเข้าใจจุดกำเนิดและวิวัฒนาการของธนาคารกลางกันไปแล้ว โดยในบทความตอนที่ 1 ได้ไล่เรียงตั้งแต่ยุคสมัยแรก คือ ก่อนมีและกำเนิดธนาคารกลาง ยุคที่สอง คือ ช่วงการริเริ่มบทบาทของธนาคารกลาง ตามมาด้วยบทความตอนที่ 2 ได้กล่าวถึงยุคที่สาม คือ ความเป็นธนาคารกลางเต็มรูปแบบ จนถึงยุคที่สี่ คือ ธนาคารกลางในสมัยปัจจุบัน ซึ่งทำให้ได้เห็นพัฒนาการอันยาวนานกว่าที่จะมาเป็นธนาคารกลางที่เราเห็นในทุกวันนี้
มาวันนี้เป็นบทความตอนที่ 3 จะได้ชวนท่านผู้อ่านสำรวจความท้าทายสำคัญ ๆ ในภาพรวมที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศในฐานะผู้ดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ต้องเผชิญในปัจจุบันและระยะต่อไปจากทรรศนะส่วนตัวของผู้เขียน ดังต่อไปนี้ครับ
การสะสมความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากช่วงวิกฤตโควิด-19
อย่างที่ท่านผู้อ่านอาจทราบอยู่แล้วว่าวิกฤตโควิดได้สร้างบาดแผลระยะยาวไว้ให้กับเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคธุรกิจ และหนี้สาธารณะ ซึ่งซ้ำเติมความเปราะบางที่มีอยู่แล้วในหลายประเทศตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 และสามารถเป็นระเบิดเวลาที่อาจปะทุลุกลามเป็นวิกฤตการเงินได้ นับเป็นความท้าทายสำคัญของธนาคารกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในการเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้น
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน (Disruptive Technology)
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ ที่เอื้อให้เกิดระบบการเงินแบบไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance: DeFi) การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ มากมาย แต่อีกด้านหนึ่งก็นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน และการสูญเสียนโยบายการเงินซึ่งเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นหรือชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจในยามจำเป็น ธนาคารกลางจึงต้องหาจุดสมดุลระหว่างโอกาสและความเสี่ยงดังกล่าว
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น (Climate Shock)
ปรากฏการณ์ในด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากภาวะโลกร้อน สภาพอากาศที่แปรปรวน และภัยพิบัติที่รุนแรง ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้หลายช่องทาง สิ่งเหล่านี้สร้างความท้าทายต่อธนาคารกลางในการพยากรณ์เศรษฐกิจ และการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน เพราะภัยพิบัติจะส่งผลให้เกิดความขาดแคลนต่อสินค้าต่าง ๆ ปัญหาระยะสั้นด้านอุปทานอาจนำไปสู่แรงกดดันระยะยาวด้านอุปสงค์ ซึ่งจะซ้ำเติมให้เกิดปัญหาภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูงและรุนแรงขึ้น (Geopolitical Risk)
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มที่จะคาดการณ์ได้ยาก โดยเฉพาะผลกระทบของความขัดแย้งที่มีต่อราคาพลังงานโลก สร้างความท้าทายให้แก่การประเมินภาวะเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกในการดูแลเสถียรภาพด้านราคา
การเข้าสู่สังคมที่ “แก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย”
หลายประเทศได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ โดยผู้คนส่วนใหญ่มีช่วงชีวิต (life span) ที่ยาวนานขึ้น แต่ช่วงสุขภาพ (health span) ไม่ยาวนานตาม จำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงจึงเพิ่มขึ้น ขณะที่ขาดความมั่นคงทางการเงิน (wealth span) คือ มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ส่วนหนึ่งมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจและการวางแผนทางการเงิน จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ธนาคารกลางอาจเข้ามาช่วยได้ในเรื่องการปลูกฝังความรู้ทางการเงินของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
จะเห็นได้ว่า มีความท้าทายอยู่มากทั้งในปัจจุบันและอนาคต แล้วธนาคารกลางควรจะทำอย่างไร? จะวิวัฒน์พัฒนาบทบาทของตนเองอย่างไร? และสรุปแล้วธนาคารกลางจำเป็นต้องมีอยู่ในระบบเศรษฐกิจการเงินหรือไม่? หาคำตอบได้ในบทความหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของซีรีย์นี้ครับ
ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย