ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์นางสาวพรชนก เทพขามนางสาวนันทนิตย์ ทองศรี ธนาคารแห่งประเทศไทยนางสาวพัชยา เลาสุทแสน สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ท่ามกลางการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปในหลายประเทศทั่วโลก แม้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศของไทยได้ลดน้อยลงจนเท่ากับศูนย์ แต่การที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกยังไม่กลับมาเป็นปกตินี้ จะยังส่งผลให้ภาคการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์กันไว้ในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ยังคงประเมินว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เราล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในระยะต่อไป สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ในวันนี้จึงขอชวนทุกท่านมาทบทวนถึงผลกระทบของโควิด 19 ที่มีต่อตลาดแรงงานไทยในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้สามารถออกแบบนโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุดได้
"ตัวเลขการจ้างงานเปลี่ยนแปลงช้ากว่าสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีนายจ้างจึงพยายามรักษาลูกจ้างไว้โดยลดชั่วโมงการทำงานก่อน เมื่อมีความจำเป็นจึงค่อยเลิกจ้าง"
ข้อมูลการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ว่างงานกว่า 7.5 แสนคน ซึ่งสูงกว่าปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกันถึงเกือบเท่าตัว ส่วนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานตามมาตรา 38 ก็เพิ่มสูงขึ้นไปที่ประมาณ 3 แสนคน ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่อาจรู้สึกถึงความรุนแรงของผลกระทบและประเมินไว้ก่อนหน้าว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบหลายล้านคน จึงมีความสงสัยว่าตัวเลขการว่างงานของไทยที่จัดทำบนฐานของการสำรวจอาจครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าความเป็นจริง อย่างไรก็ดี โครงสร้างตลาดแรงงานไทยมีลักษณะที่นายจ้างมักปรับตัวโดยการปรับเปลี่ยนชั่วโมงการทำงาน มากกว่าการเพิ่มหรือลดคนงานแบบฉับพลัน ส่วนหนึ่งอาจมาจากการหาแรงงานที่มีทักษะเหมาะสมกับงานนั้นทำได้ยากหรืออยู่กันมานานแบบครอบครัว ส่งผลให้ตัวเลขการจ้างงานเปลี่ยนแปลงช้ากว่าสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีนายจ้างจึงพยายามรักษาลูกจ้างไว้โดยลดชั่วโมงการทำงานก่อน เมื่อมีความจำเป็นจึงค่อยเลิกจ้าง