​75 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย เหลียวหลัง แลหน้า

​นายพงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดดาเนินการมาครบรอบปีที่ 75 ซึ่งหากเปรียบกับชีวิตคนก็ต้องถือได้ว่าผ่านประสบการณ์มามากพอสมควร และเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาทบทวนวิวัฒนาการของ ธปท. จากบริบททางประวัติศาสตร์โดยศึกษาจุดเปลี่ยนสำคัญที่ ธปท. ได้เผชิญมาในแต่ละยุคสมัย และมองไปข้างหน้าถึงความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

แน่นอนว่า สภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ในบริบทของประเทศกาลังพัฒนาเช่นประเทศไทย บทบาทของ ธปท. ในฐานะธนาคารกลางของประเทศคงไม่สามารถมุ่งแต่การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจตามภารกิจของธนาคารกลางโดยทั่วไปเท่านั้น หากแต่มีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาภาคการเงินของประเทศให้สอดคล้องไปกับระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ดังนั้น แม้ว่าเวลาจะผ่านไป งานของธนาคารกลางยังคงเกี่ยวข้องกับการรักษาสมดุลของระบบเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในด้านการเติบโตของภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง รวมถึงการประสานนโยบายการเงินและการคลัง เป็นต้น ประสบการณ์ในการรักษาสมดุลในมิติต่างๆ เหล่านี้ได้สะท้อนผ่านประวัติศาสตร์การดำเนินงาน 75 ปี ของ ธปท.

เมื่อเหลียวหลัง ‘บทบาทและพันธกิจ’ จะพบว่า ธปท. ได้ผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมาถึง 5 ช่วงที่สำคัญ คือ ในยุคแรก (2485-2498) ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่างและภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่ง ธปท. ประสบปัญหาเสถียรภาพทางการเงินอย่างรุนแรง ทั้งในด้านอัตราเงินเฟ้อสูงอย่างต่อเนื่องและความไร้เสถียรภาพของค่าเงินบาท นอกจากนั้น ธปท. ยังคงต้องเผชิญปัญหาการขาดดุลทางการคลังของภาครัฐที่ใช้วิธีกู้เงินจาก ธปท. มาใช้จ่าย ทำให้ยุคแรก ของ ธปท. ทำได้เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และไม่มีเวลาดูแลพัฒนาระบบการเงินได้อย่างที่ต้องการ บทเรียนในยุคแรกแสดงให้เห็นว่า การดำเนินงานของ ธปท. โดยลำพังไม่สามารถที่จะดูแลความมั่นคงทางการเงินของประเทศให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน หากภาคส่วนอื่นยังขาดวินัยในการใช้จ่ายเงิน

เมื่อก้าวสู่ยุคที่สอง (2498-2514) เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่นาไปสู่การเปิดศักราชใหม่แห่งเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีการวางรากฐานความมั่นคงทางการเงินและมีการตื่นตัวต่อการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยการปฏิรูปกฎหมายพื้นฐานที่ทำให้ ธปท. สามารถทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งด้านการเงิน การธนาคาร และมีการสร้างวินัยด้านการงบประมาณของรัฐบาล ประสบการณ์ในช่วงนี้คือการรักษาสมดุลได้อย่างดี จึงทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในระดับที่สูงควบคู่ไปกับความมีเสถียรภาพ

ยุคที่สาม (2514-2533) ธปท. พบกับความท้าทายในการบริหารเศรษฐกิจท่ามกลามความแปรปรวนทั้งจากภายนอก คือการลอยตัวของค่าเงินของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันโลกถึงสองครั้ง และภายในคือเกิดปัญหาความไม่มั่นคงของสถาบันการเงินภายในประเทศ บทเรียนในช่วงนี้คือการประสานนโยบายได้ โดยมีความยืดหยุ่นทั้งในด้านการเงินการคลังและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนควบคู่กับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในด้านต่างๆ จนในที่สุดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรอดพ้นความผันผวนที่มาจากภายนอก และนาไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงในระยะต่อมา

ยุคที่สี่ (2533-2541) เป็นช่วงเวลาที่ ธปท. หันมาผ่อนคลายข้อจำกัดทางเงินต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพและมีการแข่งขันกันมากขึ้น แต่ต้องเผชิญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในเวลาอันรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบการเงินเสรีก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาค คือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การก่อหนี้ต่างประเทศของภาคเอกชน และในระดับสถาบันการเงินและตลาดการเงิน จนในที่สุด ต้องประสบกับวิกฤตการณ์ทั้งระบบเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

ยุคที่ห้า (2541-ปัจจุบัน) ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขององค์กร ทั้งการใช้กรอบนโยบายการเงินที่เน้น ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการสื่อสารต่อสาธารณชน ควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพการเงินผ่านการใช้ มาตรการด้าน Macroprudential ด้านนโยบายสถาบันการเงินก็ได้ขยายภารกิจออกไปสู่การให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและให้ความรู้ทางการเงินต่อผู้บริโภค การรักษาสมดุลระหว่างความมั่นคงและพยายามเพิ่มประสิทธิภาพ ให้ระบบการเงินได้ช่วยเป็นเกราะรองรับความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกดังที่ได้ผ่านบทพิสูจน์มาแล้วเมื่อวิกฤต การเงินโลกที่ผ่านมาในปี 2552

นอกเหนือจากการเหลียวหลังพันธกิจของ ธปท. แล้ว ในบทความนี้ เราจะมาเหลียวหลังถึงความเป็นมาของการจัดตั้งธนาคารชาติขึ้นจนประสบผลสำเร็จ ซึ่งมีที่มาแตกต่างจากประเทศใดๆในโลก รวมถึงการเหลียวหลังศิลปะ การบริหารงานของ ธปท. ที่ชี้ให้เห็นความจำเป็นในการสร้างความสัมพันธ์กับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการทางานเพื่อพัฒนาประเทศ

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอเชิญชวนผู้สนใจมาร่วมงานสัมมนาวิชาการประจาปี 2561 ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อแลไปข้างหน้าในหัวข้อ "สู่ยุคใหม่ของระบบการเงินและธนาคารกลาง" ในวันที่ 24-25 กันยายน 2561 ณ โรงแรม Centara Grand at Central World (รายละเอียดที่ww.bot.or.th/BOTSymposium2018)

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย