​การเดินทางของภาคการเงินไทย: สู่เป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

กระแสสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและภัยธรรมชาติได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยและความเป็นอยู่ของประชาชนรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ ภาวะน้ำท่วมเฉียบพลันจากพายุ "มู่หลาน" โดยเฉพาะอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ทำให้ภาคธุรกิจ และพื้นที่การเกษตร เสียหายเป็นวงกว้าง

ข้อมูลดัชนีความเสี่ยง Global Climate Risk Index ในปีที่แล้ว ระบุว่า ไทยติดอันดับ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลงานวิจัยของ Swiss re Institute รายงานว่า หากไทยยังนิ่งเฉยไม่เร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาด้านสภาพแวดล้อม ในอีก 28 ปีข้างหน้าเราคงต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ GDP กว่า 43% ขณะที่ภาคธุรกิจบ้านเราก็ได้รับแรงกดดันจากมาตรการด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่นับวันดูจะเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในประเด็นสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กให้ต้องปรับตัวตามให้ทันเพื่อสร้างโอกาสและลดอุปสรรคไม่ให้ตกขบวน


การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายในเรื่องสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องใกล้ตัวของพวกเราทุกคนและทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปอย่างราบรื่นไม่สะดุดกลางคัน เปรียบได้กับการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางของผู้โดยสารทั้งภาคธุรกิจและประชาชน จำเป็นต้องมีรถโดยสารที่มีสมรรถนะดีที่จะนำพาไป บนถนนที่มีโครงสร้างแข็งแรงรองรับแรงกระแทกและลมพายุที่พัดเข้ามา

ถนนที่มีฐานรากมั่นคงเกิดขึ้นได้จาก ภาครัฐ ที่ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และมีป้ายบอกทิศทางเดินไปข้างหน้าที่ถูกต้องชัดเจน ตอบโจทย์ความพร้อมที่แตกต่างของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ขณะที่รถโดยสาร หรือ ภาคการเงิน เช่น กลุ่มธนาคาร จะมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรเม็ดเงินไปสู่ระบบเศรษฐกิจและส่งเสริมภาคธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง หรือ ใหญ่ สามารถปรับตัว อยู่รอด และแข่งขันได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ แบงก์ชาติซึ่งเป็นหนึ่งในผู้กำกับดูแลภาคการเงิน ได้ออกมาสื่อสาร ทั้งทิศทางและเป้าหมายในการเดินไปข้างหน้าของภาคการเงิน โดยเน้นถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสม และความเร็วในการดำเนินการที่ต้องไม่เร็วหรือช้าจนเกินไป ซึ่งเส้นทางเดินและจุดหมายปลายทาง ที่แบงก์ชาติได้ปักหมุดไว้มี 5 ทางหลัก เพื่อมุ่งพัฒนาภาคการเงินสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้


1. กลุ่มธนาคารมีมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าปัจจุบันแต่ละธนาคารได้นำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมาผนวกในกระบวนการทำงานแล้ว แต่ทว่ายังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ไม่ได้ทำพร้อมกันทั้งระบบ หากมีการยกระดับให้กลุ่มธนาคารนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการทำธุรกิจโดยอยู่บนมาตรฐานที่เทียบเคียงกันได้ ย่อมจะช่วยให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชน โดยแบงก์ชาติจะออกแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นกรอบให้ภาคธนาคารใช้อ้างอิงเป็นแนวทางภายในเดือนกันยายนนี้


2. มี Thailand Taxonomy เป็นมาตรฐานกลางเพื่อใช้กำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การสร้างความเข้าใจให้ตรงกันว่ากิจกรรมใดเป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องมีหลักการให้ใช้อ้างอิงร่วมกันได้ แบงก์ชาติจึงได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ศึกษาและเตรียมจัดทำ Thailand Taxonomy เพื่อใช้อ้างอิงและช่วยให้เกิดการจัดสรรเงินทุนไปยังกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น โดยเริ่มจากการจัดกลุ่มกิจกรรมในภาคพลังงานและภาคขนส่ง ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด


3. มีฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นระบบ ทุกคนเข้าถึงได้

ยุคนี้อะไร ๆ ก็ต้องพึ่งข้อมูล กล่าวได้ว่า ข้อมูล คือ กุญแจสำคัญที่ใช้เพื่อตัดสินใจลงทุน วิเคราะห์โอกาส ประเมินความเสี่ยง กำหนดกลยุทธ์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป แบงก์ชาติจะร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มธนาคาร ในการพัฒนาฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย ให้เป็นระบบ ครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่เปิดเผยจากภาคธนาคาร โดยจะเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์อย่างเพียงพอเหมาะสม


4. มีมาตรการจูงใจเพื่อช่วยเหลือให้ธุรกิจปรับตัวได้ โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้น

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับภาคธุรกิจในการปรับตัวให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ก็คือ เงินทุน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่กำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐค่อนข้างมาก การมีเครื่องมือและความช่วยเหลือมาช่วยลดต้นทุนในการปรับตัวจะเป็นฟันเฟืองสำคัญให้ธุรกิจก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงได้ ตัวอย่างเช่น สินเชื่อเพื่อการปรับตัวซึ่งแบงก์ชาตินำร่องออกมา ถือเป็นหนึ่งในมาตรการสนับสนุนด้วยต้นทุนดอกเบี้ยต่ำแก่ SMEs ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม


5. บุคลากรทางการเงินมีความรู้รอบ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม

แบงก์ชาติจะร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดหลักสูตรและ workshop เพื่อเสริมทักษะความรู้แก่กลุ่มคนทำงานในภาคการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดคำแนะนำไปยังภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ได้อย่างตรงจุดและตอบโจทย์ต่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม


หากภาคการเงินไทยขับเคลื่อนรถโดยสารที่มีลูกค้าทั้ง ธุรกิจรายใหญ่ รายเล็ก ประชาชนเดินทางไปพร้อมกันตามเส้นทางหลักทั้ง 5 สายนี้ โดยมีจังหวะคันเร่งที่พอดี และมีโครงสร้างถนนคอนกรีตที่แข็งแรงทนต่อแรงกระแทกจากภาครัฐรองรับตั้งแต่แรก ไปจนสุดทาง ย่อมจะทำให้ทุก ๆ คนผ่านอุปสรรคจากพายุฝนระหว่างได้ และไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัยและราบรื่น คือ การเห็นเศรษฐกิจและสังคมไทยที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ติดตามรายละเอียดทิศทางการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนบทบาทของภาคการเงินได้ใน ทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย | Financial Landscape (bot.or.th) (เผยแพร่เมื่อ 23 ส.ค. 65)


ผู้เขียน :
จุฬารัตน์ เหลืองประสิทธิ์
และทีมการธนาคารเพื่อความยั่งยืน
ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย