ดร. นครินทร์ อมเรศฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ


มหาวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้ส่งผลให้จนถึงวันศุกร์ที่ 10 เม.ย. มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกทะลุหนึ่งแสนคนแล้ว จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งสิ้นเกือบหนึ่งล้านเจ็ดแสนคน สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น หากนับตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งแรกของปีในวันที่ 5 ก.พ. เพื่อรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งนับเป็นธนาคารกลางประเทศแรก ๆ ที่แสดงความกังวลต่อประเด็นดังกล่าวอย่างชัดเจน จนกระทั่งถึงการเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินฉบับล่าสุดในวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งได้ปรับประมาณการ GDP ปี 2563 ลงจากร้อยละ 2.8 เป็นติดลบร้อยละ -5.3 จนทำให้กูรูนักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักต้องปรับลดประมาณการตามด้วยแล้วนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภาวะเศรษฐกิจดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ในวันนี้จะขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองถึงบริบทเศรษฐกิจโลกในภาพใหญ่หลังโควิด-19
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจว่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในรอบนี้มีความแตกต่างไปจากเกือบทุกวิกฤตการณ์ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งมักจะมีต้นตอจากวิกฤตการณ์ในภาคการเงิน บนพื้นฐานการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเกินพอดีเพราะนักลงทุนมองบวกว่า “This time is different” หรือเศรษฐกิจดีไม่น่ามีวิกฤต ตามแนวคิดของสองนักเศรษฐศาสตร์สำนัก Harvard คือ Carmen Reinhart และ Kenneth Rogoff แต่กล่าวได้ว่า วิกฤตการณ์ในครั้งนี้มีความแตกต่างจากในอดีตอย่างแท้จริง เพราะเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจจริง ที่การผลิตต้องหยุดชะงักลงทำให้เม็ดเงินที่รัฐบาลแต่ละประเทศใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ทำได้เพียงซื้อเวลาให้คนประทังชีวิตไปได้จนกว่าการแพร่ระบาดจะยุติลง และตราบใดที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่กลับมาดำเนินต่อได้ตามปกติ ตราบนั้นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะยังไม่สามารถฟื้นฟูได้ ปัจจัยสำคัญที่จะชี้ขาดสถานการณ์ในภาพรวมจึง คือ ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
หากทบทวนข้อเท็จจริงที่ว่าโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อุบัติขึ้นในจีนเมื่อเดือน ธ.ค. ปีก่อน และกำลังเร่งแผ่ขยายลุกลามไปทั่วโลกในปัจจุบัน โดยจำนวนผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 70 อยู่ในประเทศยุโรป ขณะที่ประเทศสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่มีสถานการณ์น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเพราะมียอดผู้ติดเชื้อเกือบครึ่งล้าน และพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง น่าสังเกตว่า ประเทศในภูมิภาคยุโรปและอเมริกาล้วนอยู่ในกลุ่มพัฒนาแล้ว มีเครื่องมือทางด้านสาธารณสุขอย่างครบครัน ตลอดจน ได้ทุ่มสรรพกำลังผ่านเม็ดเงินมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับไม่อาจชะลอต้นตอของปัญหานั่นคือการแพร่ระบาดของไวรัสได้ ตรงข้ามกับสถานการณ์ในประเทศจีนที่เน้นลงมือจัดการอย่างเฉียบขาด จนกระทั่งสามารถควบคุมสถานการณ์ได้มากแล้ว


ปัจจัยหนึ่งที่บ่งชี้ความแตกต่างของผลลัพธ์ในการจัดการกับไวรัส คือ วัฒนธรรมของประชาชนในแต่ละประเทศ รัฐบาลจีนสามารถควบคุมพฤติกรรมของประชาชนให้ปฏิบัติตามหลักการ Social Distancing อย่างเคร่งครัด สามารถยกเลิกการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งได้ ตรงกันข้ามกันภาพข่าวที่ออกมาว่านักศึกษาจำนวนมากในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐฯ ยังฉลองช่วงพัก Spring Break กลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาตามปกติ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมสอดคล้องกับมาตรการในการแก้ปัญหาของรัฐบาลแต่ละประเทศ และจะเป็นตัวชี้วัดถึงความยืดเยื้อของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
น่าสนใจว่าวิกฤตการณ์ที่เรากำลังเผชิญจะเป็นส่วนสำคัญหนึ่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจการเงินโลกด้วยหรือไม่ Ray Dalio ผู้จัดการกองทุน Hedge Fund ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้แต่งหนังสือชื่อก้องโลก “Principles” ได้เคยบรรยายในงานสัมมนาผู้แทนธนาคารกลางทั่วโลกว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนตัวประเทศผู้นำมหาอำนาจโลกในตลอดระยะเวลาห้าร้อยปีที่ผ่านมา คือ ศักยภาพด้านการค้า การทหาร และเทคโนโลยี จึงประเมินในขณะนั้น (ต.ค. 2562) ว่าประเทศจีนที่มีศักยภาพสูงสุดเพียงด้านการค้า จะยังต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษ จึงจะขึ้นเป็นประเทศผู้นำโลกได้ อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในประวัติศาสตร์บ่งชี้ไว้อย่างชัดเจนเช่นกันว่า การเปลี่ยนขั้วของมหาอำนาจโลกมักจะเกิดขึ้นพร้อมกับมหาสงคราม ดังนั้น หากจีนกลายเป็นผู้ชนะตัวจริงในมหาสงครามโคโรนาไวรัสแล้ว จะช่วยย่นระยะเวลาที่ต้องใช้ในการทะยานขึ้นเป็นผู้นำโลกได้หรือไม่?
ขอทิ้งท้ายบทความด้วยการกลับมามองประเทศไทย ปีนี้จะเป็นปีแรกที่พวกเราส่วนหนึ่งจะทำงาน Work from home ในวันสงกรานต์ ซึ่งคงจะคุ้มเกินคุ้ม หากการที่เราอดเปรี้ยวไว้กินหวาน อดทนไม่ฉลองเทศกาลตรุษไทย เช่นเดียวกับที่ประชาชนจีนงดฉลองตรุษจีน จะมีส่วนช่วยให้เราควบคุมการแพร่ระบาดได้ ทั้งนี้ การยุติการแพร่ระบาดเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูเศรษฐกิจเท่านั้น เมื่อถึงวันนั้นแล้ว พวกเราที่ขณะนี้ทำหน้าที่ได้เพียงส่งเสบียงกรังและให้กำลังใจเหล่าฮีโร่บุคลากรทางการแพทย์นำทัพสู้ศึก จะต้องพลิกบทบาทมาเป็นผู้นำพาเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาเติบโตอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้บริบทที่ประเทศผู้นำโลกอาจกำลังเปลี่ยนตัว

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

>>>