​แรงงานนอกระบบ : หนทางการอยู่รอดในยุค New Normal

จากตอนที่แล้วที่กล่าวถึงโครงสร้างของแรงงานนอกระบบ และผลจากโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อรายได้ของแรงงานนอกระบบมากน้อยต่างกันตามแต่ลักษณะของสาขาธุรกิจ ในครั้งนี้จะกล่าวถึงแนวทางการอยู่รอดสำหรับแรงงานในโลกใหม่หลังโควิด-19 ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากโลกเก่าก่อนโควิด-19 อย่างมาก โดยหัวใจสำคัญของการอยู่รอด คือ แรงงานจะต้องปรับตัว ขณะที่ภาครัฐจะต้องเป็นพี่เลี้ยง ช่วยติดอาวุธชุดใหม่และสร้างภูมิต้านทานให้แก่แรงงานนอกระบบ


สำหรับโลกใหม่ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด แต่การเปลี่ยนแปลงได้เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้คนที่ปรับตัวไม่ได้ หรือไม่ปรับตัวถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แรงงานส่วนหนึ่งต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน หรือใช้เทคโนโลยีในการทำงานมากขึ้น บางส่วนถูกลดชั่วโมงการทำงาน บางส่วนตกงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบประมาณ 3 ล้านคน ที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ขาดรายได้จากการไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาแล้ว 1 ปี มองไปข้างหน้า แม้ว่าการท่องเที่ยวคงจะฟื้นตัวได้บ้าง แต่คงต้องใช้เวลา และอาจจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละ 40 ล้านคนอีกต่อไปจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางและท่องเที่ยว คำถามสำคัญ คือ แรงงานนอกระบบได้วางแผนรับมือกับโลกอนาคตแล้วหรือยัง

ในระยะสั้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามาตรการรัฐกลายเป็นที่พึ่งของแรงงานนอกระบบจากมาตรการเยียวยาให้เงินช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่มาตรการเหล่านี้ทำให้ภาครัฐมีหนี้สาธารณะสูงขึ้น และจะเป็นข้อจำกัดในการช่วยเหลือแรงงานในระยะต่อไป ดังนั้น นัยของมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวคงไม่ได้เป็นเพียงการช่วยลดแรงกระแทกของรายได้ที่หายไปเท่านั้น แต่เป็นการซื้อเวลาให้แรงงานได้วางแผนและปรับตัวให้สามารถยืนหยัดอยู่ในโลกใหม่ด้วยกำลังของตัวเอง
ในระยะยาว แนวทางการปรับตัวและการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ ผู้เขียนขอสรุปเป็น 3 เสาหลัก ดังนี้ “เพิ่มรายได้ พัฒนาทักษะ สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน” ผ่านกลไกของภาครัฐที่จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบที่เผชิญความท้าทายในปัจจุบันสามารถปรับตัวและเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ได้



(1) เพิ่มรายได้ คือ การเพิ่มความสามารถในการหารายได้ด้วยการช่วยเหลือแรงงานให้สามารถปรับตัวไปตามกระแสของโลกยุคใหม่ อาทิ การหารายได้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ หรือการเปลี่ยนอาชีพใหม่ที่สอดรับกับแนวโน้มความต้องการของตลาด เช่น ธุรกิจนวดสปาอาจเปลี่ยนไปทำธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับกระแสสังคมสูงวัย หรือยกระดับบริการให้เป็นสปาเชิงสุขภาพที่ผนวกความรู้ด้านกายวิภาค เพื่อสนองต่อกระแสความนิยมต่อเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) โดยภาครัฐเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” ทั้งในด้านของการช่วยเหลือให้แรงงานสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนไปทำงานในกลุ่มงานข้างต้น ตลอดจนการสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาและดูแลแพลตฟอร์ม หรือช่องทางการค้าและบริการใหม่ ๆ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาโดยภาครัฐ รวมถึงการเป็นผู้นำร่องเพื่อสร้างอาชีพใหม่ ๆ ที่มีฐานรายได้ที่สูงขึ้นผ่านโครงการจ้างงานในท้องถิ่น เช่น โครงการจ้างงานอาสาบริบาลดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น

(2) พัฒนาทักษะ คือ การยกระดับปรับทักษะฝีมือ (Upskilling/Reskilling) ให้ตรงตามความต้องการของโลกหลังโควิด-19 โดยปัจจุบันมีสถาบันและหลักสูตรพัฒนาทักษะแรงงานหลายแห่งที่พร้อมให้การฝึกอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น หลักสูตรสร้างแบรนด์ธุรกิจดิจิทัลและการขายสินค้าออนไลน์ (e-commerce) ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น รวมทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Skilllane, Skooldio, สถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (DISDA) เป็นต้น และแพลตฟอร์มที่ช่วยจับคู่ทักษะกับตำแหน่งงาน เช่น “ไทยมีงานทำ” อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรสร้างระบบแรงจูงใจให้แรงงานเข้าร่วมการพัฒนาทักษะ อาทิ การสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบ“จ่ายทีละครึ่ง” โดยจะจ่ายเงินอีกครึ่งหนึ่งให้ผู้เรียนหลังผ่านการประเมินทักษะ เป็นต้น

(3) สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน คือ การสร้างหลักประกันทั้งสวัสดิการทางสังคมและความมั่นคงด้านรายได้ (Social & Income Safety Nets) ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันแก่แรงงานนอกระบบให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและลดความเสี่ยง ผ่านการเข้าร่วมระบบประกันสังคมเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39[1] และมาตรา 40[2] โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น เงินทดแทนเมื่อเจ็บป่วยและทุพพลภาพ เงินสงเคราะห์บุตร เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จยามชราภาพ เป็นต้น ตลอดจนถึงการออมเงินเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินหรือหลังเกษียณผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งเป็นกองทุนที่เหมาะกับแรงงานนอกระบบที่มีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องออมเงินทุกเดือน และภาครัฐยังช่วยสมทบเงินออมสูงสุดร้อยละ 100[3] อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าร่วมระบบหลักประกันทางสังคมที่กล่าวมา ภาครัฐจึงควรเร่งผลักดันและสร้างแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าร่วมระบบประกันสังคมหรือกองทุนการออมแห่งชาติมากขึ้น ผ่านการออกแบบและเพิ่มทางเลือกสวัสดิการให้มีความหลากหลายและยืดหยุ่นสอดรับกับลักษณะของแรงงานนอกระบบ นอกจากนี้ ที่สำคัญภาครัฐควรส่งเสริมให้แรงงานมีวินัยในการออม และเห็นความสำคัญของการจัดทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งจะทำให้ทราบถึงรายรับและรายจ่าย และสามารถลดปัญหาหนี้ครัวเรือนได้

การแพร่ระบาดโควิด-19 เตือนให้เราได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่นับวันจะทวีความเร็วและรุนแรงมากขึ้น การจะอยู่รอดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอนและมีความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามาตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่สุด คือ แรงงานจะต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) และมีภูมิคุ้มกันทั้งด้านการงานและการเงิน พร้อมรับและปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาสังคมจะต้องร่วมมือกันผลักดันและเร่งติดอาวุธให้แรงงานนอกระบบสามารถก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงและอยู่รอดได้โดยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ที่มา: 1. ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ (Business Liaison Program: BLP) ในเดือน ม.ค. – มี.ค. 64 และรวบรวมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 2.ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ 3. กองทุนการออมแห่งชาติ

[1] มาตรา 39 คือ ผู้ประกันตนที่เคยเป็นลูกจ้างในระบบประกันสังคม และออกจากประกันสังคม โดยสมัครใจส่งเงินต่อ[2] มาตรา 40 คือ ผู้ประกันตนที่ไม่เคยประกันตนแล้วสมัครใจประกันตนเอง ได้สิทธิ์เป็นลำดับขั้นตามจำนวนเงินที่สมทบ
[3] เป็นไปตามเงื่อนไขของกองทุนการออมแห่งชาติ



ผู้เขียน:นางสาววันใหม่ นนท์ฐิติพงศ์นางสาวณิชกานต์ พรหมจินดาฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย



>>