​ธปท. ดูแลประชาชนอย่างไร ในช่วงการระบาดของ COVID-19

นางสาวพัฐสุดา เสนทองนางสาวนารถนลิน ธีรชัยฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ



ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่เริ่มมีการระบาดของ COVID-19 พวกเราทุกคนล้วนได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง lifestyle ที่ต้องปรับตัว การหยุดทำงานชั่วคราว หรือการที่ต้อง work from home ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบด้านการเงินต่อหลายคน เช่น ชั่วโมงการทำงานที่ลดลง การค้าขายได้ไม่ดีเท่าเดิม ทำให้มีรายได้ลดลงไปด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจเหล่านี้และได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อออกนโยบายมาดูแลและช่วยบรรเทาภาระด้านการเงินของประชาชน มาตรการต่าง ๆ ที่ ธปท. ได้ดำเนินการในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ได้คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก โดยแบ่งได้เป็น 3 ส่วนสำคัญ เพื่อช่วยพยุงให้ประชาชนรายย่อยสามารถผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้

เริ่มแรก คือ การเร่งแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน โดยไม่ต้องรอจนเกิดปัญหาผิดนัดชำระ เพื่อปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้เหมาะสมกับกำลังความสามารถที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งลูกหนี้สามารถขอเจรจาได้ทั้งการขยายเวลา การลดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ต่ออายุวงเงิน หรือขอสินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยลูกหนี้สามารถติดต่อสถาบันการเงินที่ใช้บริการได้โดยตรง

ส่วนที่สอง คือ การออกมาตรการช่วยเหลือเป็นการทั่วไปเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ และสินเชื่อบ้านได้เป็นจำนวนมาก โดยในระยะที่ 1 มีตัวอย่างการช่วยเหลือลูกหนี้ คือ การลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด (จาก 10% เป็น 5%) การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เป็นต้น
ในส่วนของระยะที่ 2 ได้แก่ การเปลี่ยนยอดหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดเป็นสินเชื่อระยะยาว 48 งวด โดยลดดอกเบี้ยเหลือ 12% ต่อปี และ 22% ต่อปี ตามลำดับ การลดค่างวดโดยลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 22% ต่อปี ของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นต้น จะเห็นได้ว่ามาตรการระยะที่ 2 ได้เริ่มให้ลูกหนี้ทยอยจ่ายชำระเงินเข้ามา เพื่อให้ค่อยๆ ปรับตัว ไม่ต้องจ่ายหนี้ที่ค้างไว้ทั้งก้อนในคราวเดียว



นอกจากนี้ ยังได้ปรับลดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลให้กับลูกหนี้ 2%- 4% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดภาระของลูกหนี้รายย่อยได้โดยตรง รวมทั้งผ่อนปรนการขยายวงเงินให้กับลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียนและผ่อนชำระเป็นงวดที่มีประวัติการชำระหนี้ดี และมีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติมในช่วง COVID-19

ส่วนสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ คือ การดูแลรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ผ่านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. (โทร 1213 หรืออีเมล์ไปที่ fcc@bot.or.th) นอกจากนี้ ธปท. ได้เปิดช่องทาง “ทางด่วนแก้หนี้” เพื่อเป็นช่องทางเสริมสำหรับประชาชนที่ต้องการขอความช่วยเหลือ โดย ธปท. จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานไปยังสถาบันการเงินเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่อไป

จากการออกมาตรการช่วยเหลือมาเป็นเวลา 4 เดือน ได้ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยถึง 11.64 ล้านบัญชี โดย ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงและออกมาตรการให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและตรงความต้องการ สามารถปรับตัวให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

>>