​การฟื้นตัวของธุรกิจ : ข้อมูลสำคัญจากภาคสนาม

นางสาววรางคณา อิ่มอุดม

ปัญหาอุทกภัยที่นับว่ารุนแรงมากสุดในรอบ 70 ปี ได้ผ่านจุดเลวร้ายไปแล้ว สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายลงเป็นลำดับ ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมในครั้งนี้กระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นวงกว้าง การผลิตบางส่วนต้องหยุดชะงักลง ส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อการส่งออกที่เริ่มชะลอตัวตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับลดลงมาก ดังนั้น จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 จะหดตัวลงมาก และทั้งปี 2554 จะขยายตัวลดลงจากร้อยละ 2.6 เหลือเพียงร้อยละ 1.8 (ประมาณการ ณ 30 พ.ย. 54)

ประเด็นสำคัญของเรื่องไม่ใช่ตัวเลข เพราะหลายสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจต่างก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่าจะเป็นการหดตัวในระยะสั้นๆ สิ่งสำคัญคือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยภายหลังจากน้ำท่วม ซึ่งในช่วงเดือนกว่าที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้รับความร่วมมืออันดียิ่งในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจจากภาคเอกชนในส่วนกลางและภูมิภาคทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก สมาคมธุรกิจต่างๆ หอการค้าต่างประเทศ และสถาบันการเงิน ทำให้ประเมินกระบวนการบูรณะฟื้นฟูของธุรกิจได้อย่างชัดเจนและเป็นจริงมากขึ้น จึงอยากเขียนแบ่งปันให้ทราบกันในฉบับนี้
ภาคการผลิตและการส่งออก ธุรกิจโดยรวมคาดว่าจะทยอยกลับมาผลิตได้ภายใน 1-6 เดือนต่อจากนี้ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกฟื้นตัวตาม ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านเครือข่ายการผลิตชิ้นส่วนเริ่มทยอยกลับมาผลิตแล้วเพื่อตอบสนองกับความต้องการที่ยังคงมีอยู่ โดยจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่นทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มการผลิตจากบริษัทในเครือที่อยู่ในต่างจังหวัดหรือในต่างประเทศ ย้ายแรงงานและเครื่องจักรไปผลิตที่อื่นชั่วคราว รวมทั้ง มีแนวทางนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปโดยเฉพาะยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการซื้อหลังน้ำลด สำหรับผู้ประกอบการที่ถูกน้ำท่วมได้เร่งกู้เครื่องจักรขึ้นมาก่อนน้ำลดเพื่อย่นระยะเวลาการฟื้นตัว บางรายประสานงานกับบริษัทประกันภัยให้สามารถเคลื่อนย้ายเครื่องจักรเพื่อซ่อมบำรุงได้ก่อนการประเมินสิ้นสุด ทั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยประเมินว่ากระบวนการประเมินค่าสินไหมชดเชยไม่น่าจะล่าช้าโดยบริษัทประกันภัยจะทยอยจ่ายค่าเสียหายขั้นต่ำก่อนเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อได้จากนั้นจึงเจรจาจ่ายในส่วนที่เหลือ ซึ่งจะเอื้อให้กระบวนการฟื้นตัวของธุรกิจไม่ล่าช้า ขณะที่สถาบันการเงินได้เตรียมวงเงินสินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการบูรณะธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

สำหรับ 3 อุตสาหกรรมหลักที่กระทบมาก ประเมินว่าอุตสาหกรรมยานยนต์น่าจะเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ฟื้นตัวได้เต็มที่ก่อน ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะเริ่มผลิตได้ประมาณปลายเดือนธันวาคมเป็นต้นไปในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงปกติ และเมื่อผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ ผลิตได้ก็จะเร่งกลับมาผลิตมากกว่าปกติเพื่อชดเชย เนื่องจากความต้องการยังมีต่อเนื่อง เช่นเดียวกัน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์จะกลับมาผลิตได้ตามปกติภายในต้นมกราคมปีหน้า เนื่องจากสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และโรงงานที่โดนน้ำท่วมจะนำเข้าเครื่องจักรใหม่และเริ่มผลิตได้ภายในมีนาคม ขณะที่อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อาจจะเป็นอุตสาหกรรมท้ายๆ ที่ฟื้นตัวได้ช้าสุดเนื่องจากทั้งผู้ผลิตหลักของตลาดและผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของโลกที่ได้รับผลกระทบหนักตั้งอยู่ในประเทศไทย ทำให้การจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตอื่นเป็นไปได้ยาก แต่คาดว่าโรงงานต่างๆ ที่โดนน้ำท่วมจะนำเข้าเครื่องจักรใหม่และกลับมาผลิตได้บางส่วนในช่วงปลายมีนาคมปีหน้า

ด้านการลงทุน ผู้ประกอบการยังคงมีแผนลงทุนต่อเนื่องแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการลงทุนเพื่อฟื้นฟูการผลิตและป้องกันน้ำท่วม ขณะที่แผนลงทุนเดิมเพื่อทดแทนแรงงานขาดแคลนและขยายการผลิตในระยะยาวยังคงดำเนินการต่อ ด้านผู้ประกอบรถยนต์ยังคงยืนยันการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตในปีหน้า ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ไม่ได้รับผลกระทบเตรียมขยายกำลังการผลิตเพิ่มเพื่อทดแทนกำลังการผลิตของตลาดที่ลดลงในช่วงที่คู่แข่งยังมีปัญหาหรือธุรกิจบางแห่งปิดกิจการ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงแผนลงทุนแต่อาจเลื่อนเวลาออกไปบ้างและมีแผนขยายกำลังการผลิตในโรงงานแถบภาคเหนือและอีสานเพื่อกระจายความเสี่ยง ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงแผนการลงทุนตามเดิม เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศมีต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจค้าปลีกค้าส่งมีแผนลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มเพื่อกระจายความเสี่ยง อย่างไรก็ดี ธุรกิจอาจต้องจัดสรรเงินทุนบางส่วนไปฟื้นฟูกิจการทำให้เม็ดเงินลงทุนใหม่น้อยลงซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป

ในประเด็นการย้ายฐานการผลิต หอการค้าต่างประเทศต่างก็มีความเห็นว่านักลงทุนต่างชาติยังมีความเชื่อมั่นในการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกต่อไป เนื่องจากได้มีการลงทุนในระดับสูงซึ่งเป็นการวางแผนการลงทุนในระยะปานกลางถึงยาว และที่ผ่านมาก็ได้รับการสนันสนุนจากรัฐบาลไทยในการสร้างเครือข่ายการผลิต (supply chain) ที่ซับซ้อนและแข็งแกร่งเพื่อรองรับเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ แต่ในระยะต่อไปธุรกิจต่างชาติส่วนใหญ่จะวางแผนกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งด้านการจัดซื้อวัตถุดิบและฐานการผลิต โดยอาจจะคงกำลังการผลิตในไทยไว้้ แต่ขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในต่างประเทศแทน แต่อุปสรรคที่สำคัญกว่าปัญหาน้ำท่วม คือ ไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือและค่าแรงที่สูงขึ้นทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มสนใจขยายการลงทุนในประเทศอื่นๆ เช่น พม่า อินเดีย และโดยเฉพาะอินโดนีเซียมากขึ้น

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือ การที่บริษัทประกันภัยของต่างประเทศโดยเฉพาะรายใหญ่ของเยอรมันและญี่ปุ่นยังยืนยันที่จะรับประกันภัยต่อ (reinsurance) ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนและดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป แต่ธุรกิจคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องแบกรับค่าเบี้ยประกันภัยที่สูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะมีบทบาทสำคัญมากในการลดต้นทุนประกันภัยดังกล่าวให้แก่ธุรกิจ หากสามารถกำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

จากข้อมูลอันเป็นประโยชน์เหล่านี้ ทำให้สามารถประเมินขั้นตอนการบูรณะฟื้นฟูธุรกิจของภาคเอกชนด้วยความเชื่อมั่นมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการปรับตัวและความทนทานของธุรกิจไทย การฟื้นตัวของภาคการผลิตและการส่งออกดังกล่าวจะสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนให้กลับคืนมา เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้า อย่างไรก็ดี ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ถ้าหากกระบวนการบูรณะฟื้นฟูธุรกิจมีปัญหาล่าช้าออกไป จะกระทบความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอลงมีมากขึ้น ทำให้แบงก์ชาติต้องติดตามผลกระทบจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด การพบปะภาคเอกชนจึงเป็นส่วนสำคัญในการประเมินของเราในระยะต่อไปเพื่อการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับความจำเป็นของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย